Category Archives: Melasma and Hyperpigmentation

10 คำถามเรื่อง Thiamidol & ฝ้าและการสร้างเม็ดสีผิว ‼️

หากพูดถึงเรื่องเดอโมคอสเมติกส์ที่ช่วยเรื่องฝ้าหรือรอยดำจากสิว หลายคนคงรู้จักไทอามิดอลกันมาพอสมควร วันนี้เลยรวบรวม Q&A มา 10 ข้อที่น่าสนใจ

Q1 : เป็นฝ้ามียาทาอะไรใช้รักษาได้บ้าง❓

A : 1st line ของยาทารักษาฝ้า คือ Hydroquinone ซึ่งถือเป็น gold standard แต่ถ้าหากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมากและเกิดฝ้าถาวร (Ochronosis) ได้ ปัจจุบันจึงถือว่า Hydroquinone เป็นยาที่ต้องควบคุมการสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อาจมีบางประเทศที่กฏหมายอนุญาตให้ผสมในเครื่องสำอางได้ไม่เกิน 2%
ส่วนยาทาอื่น ๆ ที่ใช้ในการรักษาฝ้า เช่น topical retinoid, azelaic acid, topical methimazole เป็นต้น

Q2 : หากไม่อยากใช้กลุ่มยา มีกลุ่ม Dermocosmetics หรือสกินแคร์ตัวอื่นอีกไหมที่ช่วยเรื่องฝ้าได้ ❓

A : มีค่ะ อาจลองมองหาส่วนประกอบเหล่านี้
✔️ กลุ่มยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส เช่น arbutin 3%/deoxyarbutin, tranexamic acid 2-5%, licorice, kojic acid, ascorbic acid, resorcinol, thiamidol
✔️ กลุ่มยับยั้งการขนส่งเมลานินไปที่ผิวหนังชั้นบน (Melanin transfer inhibition) เช่น niacinamide 4%, soybean
✔️ กลุ่มเร่งการผลัดเซลล์เม็ดสีส่วนเกินที่ผิวชั้นบน (Increased epidermal turnover) เช่น glycolic acid, salicylic acid
นอกจากนั้นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วยเสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเข้มขึ้นของฝ้า

Q3 : แล้ว Thiamidol ล่ะคืออะไร ❓

A : Thiamidol หรือ Isobutylamido thiazolyl resorcinol เป็นสารนวัตกรรมตัวใหม่ ที่ออกฤทธิ์ในกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว โดยไปยับยั้งที่ Tyrosinase enzyme นับว่าเป็นสารทางเลือกอันดับต้น ๆ ของคนที่กำลังมองหาสกินแคร์ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝ้า, รอยดำสิว หรือคนที่อยากบำรุงผิวให้ดูกระจ่างใสขึ้น สารนี้มีงานวิจัยรองรับตีพิมพ์ใน Journal of Investigative Dermatology 2018 ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการทำวิจัยใน Human tyrosinase ก็ถือว่าเทียบเท่าได้กับการทดลองทาผิวมนุษย์ในชีวิตจริง

Q4 : เมื่อเทียบประสิทธิภาพของไทอามิดอล กับสกินแคร์ที่ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ตัวอื่นแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ❓

A : ปัจจุบันมีสกินแคร์กลุ่ม Tyrosinase inhibitor ที่ไม่ใช่ยาอยู่หลายตัว เมื่อเทียบผลการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ของ Thiamidol กับสารอื่น ๆ ก็พบว่าไทอามิดอล
💯 ดีกว่า Butylresorcinol 10 เท่า
💯 ดีกว่า Kojic 1,000 เท่า
💯 ดีกว่า Arbutin 10,000 เท่า
จะเห็นว่าไทอามิดอลค่อนข้างจะเป็น Potent Tyrosinase Inhibitor ที่ออกฤทธิ์ในกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวได้ค่อนข้างดี

Q5 : Thiamidol ใช้กับผิวคนไทยได้ไหม ❓

A : ได้ค่ะ มีงานวิจัยในผิวคนไทยพบว่า Thiamidol สามารถใช้ได้ผลในการรักษา ดังนี้
💯 ฝ้าที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate melasma)
💯 กระ (freckles)
💯 กระแดด (solar lentigines)
โดยพบว่า ได้ผลดีกว่า “4% Arbutin + 2% Hydroquinone” ในเวลา 8-12 สัปดาห์

Q6 : อยากผิวขาวขึ้น Thiamidol ช่วยได้ไหม ❓

A : Thiamidol มีงานวิจัยรับรองว่า lightening index ลดลง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงผิวขาวใสขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าสีผิวของมนุษย์ถูกยีนกำหนดมาแล้ว ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม lightening และกันแดดอย่างดีก็อาจทำให้ผิวขาวขึ้นได้เพียง 1-2 ระดับเท่านั้นเมื่อเทียบกับพื้นสีผิวของแต่ละคน สามารถดูได้ที่หน้าท้อง หน้าอก ก้น หรือบริเวณที่ไม่ค่อยถูกแดดค่ะ

Q7 : ไม่อยากคล้ำหลังเที่ยวทะเล สามารถทา Thiamidol ป้องกันได้ไหม ❓

A : มีข้อมูลพบว่าสามารถช่วยป้องกัน UVB induced hyperpigmentation ได้ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าหากทาผิวทุกวัน 1-2 สัปดาห์ก่อนไปออกแดดจัด เช่น ก่อนไปเที่ยวทะเล จะช่วยป้องกันการเกิดผิวคล้ำหลังโดนแดด ได้ดีกว่าการไม่ทา (Downregulation of tyrosinase activity in melanocyte)

Q8 : ใช้ Thiamidol นาน ๆ จะเกิดฝ้าถาวรไหม ❓

A : ที่ผ่านมายังไม่มีรายงานของผลข้างเคียงเรื่อง ฝ้าถาวร (Ochronosis) ซึ่งมักพบจากการใช้ hydroquinone แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากไทอามิดอลเป็นนวัตกรรมใหม่ คงต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป มีข้อมูลอัพเดทเรื่องการใช้ Thiamidol ทาเพื่อลดฝ้าที่ความรุนแรงมาก นานต่อเนื่อง 6 เดือน ก็พบว่าไม่มีผลข้างเคียง อีกทั้งฝ้ารุนแรงสามารถจางลงชัดเจนและหลังหยุดใช้ 3 เดือนก็ยังไม่กลับมาเข้มขึ้นเท่าเดิม

Q9 : คนท้องมีฝ้า ใช้ Thiamidol ได้ไหม ❓

A : ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงในคนท้อง และเนื่องจากไทอามิดอลจัดเป็นกลุ่มเดอโมคอสเมติก ซึ่งความปลอดภัยค่อนข้างสูงและผลข้างเคียงน้อย เพราะไม่มีการดูดซึมของสารเข้าสู่กระแสเลือด ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้พิจารณา

Q10 : Thiamidol มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ❓

A : Thiamidol (PATENTED) คิดค้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ สถาบัน Beiersdorf Germany สารนี้เป็นส่วนผสมหลักอยู่ในผลิตภัณฑ์ของยูเซอรีนหลายรุ่น ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวล่าสุด คือ “Spotless Booster Serum” เป็นตัวที่อัพเกรดเทคโนโลยีต่อยอดจากรุ่นเดิม [ขวดหลอดคู่ Double Booster Serum] โดยใช้เทคนิค Micro targeted Technology เพื่อเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มี Hyaluron โมเลกุลขนาดเล็กกว่า 40 เท่า เป็นตัวพาสาร Thiamidol ลงสู่ผิวชั้นลึกได้ดีขึ้น

Bottom Line

การใช้ยาทาภายนอก ถือเป็นการรักษาหลักของการรักษาฝ้า
เดอร์โมคอสเมติกส์เป็นอีกทางเลือก ในคนที่ไม่อยากใช้ยา ซึ่งค่อนข้างปลอดภัย ออกฤทธิ์ได้ถึงผิวชั้นลึกได้ดีกว่าคอสเมติกส์ ผลข้างเคียงน้อย แต่ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่ายา
• ถ้าหากยังได้ผล แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังพิจารณาเพิ่มเติมการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยารับประทาน หัตถการต่าง ๆ และเลเซอร์
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาฝ้าให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อให้ฝ้าจางลงได้ การรักษาฝ้าให้ได้ผลดีควรต้องควบคู่ไปกับการปกป้องผิวจากแสงแดดอย่างถูกวิธี และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน ยาบางชนิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ้ากลับมาเข้มขึ้นอีก

มีใครเคยลองใช้ไทอามิดอลแล้วบ้างไหมคะ เป็นอย่างไรบ้างชวนมาแชร์ประสบการณ์กันค่ะ ?


References

  1. Inhibition of Human Tyrosinase Requires Molecular Motifs Distinctively Different from Mushroom Tyrosinase Journal of Investigative Dermatology 2018; 138: 1601-1608.
  2. An updated review of tyrosinase inhibitors. Int J Mol Sci 2009; 26(10): 2440-75.
  3. Mechanism of depigmentation by hydroquinone. J Invest Dermatol 1974; 62: 436-49.
  4. Effective Tyrosinase Inhibition by Thiamidol Results in Significant Improvement of Mild to Moderate Melasma Journal of Investigative Dermatology 2019 doi:10.1016/j.jid.2019.02.013
  5. Thiamidol containing treatment regimens in facial hyperpigmentation: An international multi-centre approach consisting of a double-blind, controlled, split-face study and of an open-label, real-world study. International Journal of Cosmetic Science. 2020; 42: 377–387. doi: 10.1111/ics.12626
  6. Isobutylamido thiazolyl resorcinol for prevention of UVB-induced hyperpigmentation. J Cosmet Dermatol. 2020; 00: 1–6.
  7. 7. 24 weeks long-term efficacy and tolerability of a skin care regimen with Thiamidol in patients with moderate to severe facial hyperpigmentation Roongenkamo et al. EADV2020.

Product mentioned
Eucerin Spotless Brightening Booster Serum

(พัฒนาจาก Double Booster Serum รุ่นก่อน)
ส่วนประกอบหลัก :
✔️ Thiamidol เป็น The Powerful Human Tyrosinase Inhibitor
✔️ Hyarulonic acid small molecule ช่วยนำพาสาร Thiamidol ซึมลงสู่ผิวชั้นลึกได้ดีขึ้น
✔️ Licochalcone A ช่วยลดการอักเสบ ลดการหลั่ง endothelin จาก endothelial cell เสริมการทำงาน ช่วยลดเรื่องการเกิด hyperpigmentation
เทคโนโลยี Micro Targeted : เพื่อเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และจัดการฝ้า จุดด่างดำได้ดีกว่าเดิม ผิวแลดูกระจ่างใสขึ้น 2 สัปดาห์
เนื้อสัมผัส : บางเบา ซึมง่ายขึ้น
บรรจุภัณฑ์ : สะดวกต่อการใช้งาน หัวปั๊มกดง่ายขึ้น

Disclaimer : Sponsored Content by Eucerin

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Melasma : Topical Treatment

สรุป 5 ยาทารักษาฝ้า

ยาทาภายนอก ถือเป็นการรักษาหลักของการรักษาฝ้า
ถ้าหากยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร จึงพิจารณาเพิ่มเติมการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วยได้

ยกตัวอย่างยาทา ได้แก่

1. Hydroquinone

ช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน มีผลลดการสร้างและเพิ่มการสลายเมลาโนโซม
ความเข้มข้นที่ใช้รักษาฝ้า คือ 2-5%
หากทาครีมกันแดดร่วมด้วย จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาฝ้าได้ดีขึ้น
💢 ระวังการเกิด confetti-liked hypopigmented macule (รอยจุดขาว) หรือ exogenous ochronosis (รอยจุดน้ำตาลอมเทา อาจนูนวาวเป็นตุ่มคล้ายไข่คาเวียร์) มักพบบ่อยในคนสีผิวเข้ม ใช้ความเข้มข้นสูง และใช้แบบ HQ alcoholic solution
💢 ควรระมัดระวังการใช้ เป็นยาควบคุมการสั่งจ่ายโดยแพทย์

2. Retinoids

ช่วยลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน ช่วยผลัดเซลล์ผิวร่วมด้วย
ยาที่มีข้อมูลช่วยเรื่องฝ้า เช่น 0.1 Adapalene gel, 0.05-0.1% Tretinoin cream
💢 ระวังผลข้างเคียง ผิวแห้ง แดง แสบ คัน บริเวณที่ทา

3. Azelaic acid

ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสี ลดการอักเสบ
เป็นยาที่สามารถใช้รักษาได้ทั้งสิวและฝ้า
ความเข้มข้นที่ใช้ คือ 20% cream
💢 ระวังการระคายเคือง แสบ บริเวณที่ทา มักมีอาการช่วงแรกของการเริ่มใช้ และจะค่อยดีขึ้น

4. HQ + TCs + Retinoids (Triple combination)

เป็นยาสูตรผสม 3 อย่าง ต้นแบบคือ Kligman’s formula (5% HQ + 0.1% Tretinoin + 0.1% Dexamethasone)
กลุ่มนี้มีข้อมูลว่า การใช้ทา 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หลังการรักษาฝ้าจางลงแล้ว จะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้อย่างน้อย 6 เดือน

5. Topical Methimazole 5%

เชื่อว่ายับยั้งเอนไซม์สร้างเม็ดสีได้ อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลไม่มาก ต้องรอติดตามต่อไป

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References
J Cosmet Dermatol. 2020; 19: 167-172.
Indian J Dermatol Venereol Leprol. 2013; 79: 701-2.
J Eur Acad Dermatol Venereol. 2012; 26: 611-18.
J Cosmet Dermatol. 2005; 4: 55-59.
Cutis 2003; 72: 67-72.
J Dermatol 2002; 29: 539-40.
ฝ้าและการรักษา melasma อ.วาสนภ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

“กลูตาไธโอน” ช่วยผิวขาวใสได้..จริงหรือไม่ ⁉️

รีวิวกลูตาไธโอนแบบกินฉีดทา ‼️

ปัจจุบันมีการนำกลูตาไธโอนมาใช้เพื่อหวังผลเพิ่มความขาวใสทั้งในรูปแบบกิน แบบทา และแบบฉีด ข้อเท็จจริงคืออะไร ‼️

จากความเดิมตอนที่แล้วทุกคนทราบว่า

✅ สีผิวถูกกำหนดมาแล้วด้วยพันธุกรรม
✅ หากมียาหรือครีมที่ทำให้กระบวนการสร้างเม็ดสีผิวเปลี่ยนไป ก็เป็นไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
✅ คนเราจะขาวขึ้นได้แค่ไหน ให้เปิดดูผิวหน้าท้องที่ไม่ถูกแดด จะไม่สามารถมากไปกว่านั้น 1 ระดับ

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับกลูตาไธโอน

1🧿 กลูตาไธโอน ประกอบด้วย อะมิโนเอซิด 3 อย่าง คือ L‐cysteine, glycine, glutamate
มีทั้ง Reduced form (GSH), Oxidized form (GSSG)

2🧿 กลูตาไธโอนทำให้ขาวใสได้จากกลไก คือ
💎 รบกวน Copper ทำให้เอนไซม์ไทโรซิเนสทำงานได้ไม่ดี
💎 ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ
💎 เปลี่ยนแปลงกลไกการสร้างเมลานิน จากชนิด Eumelanin (สีผิวเข้ม) เป็น Pheomelanin (สีผิวอ่อน)

3🧿 แสงแดด ทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น จึงส่งผลให้ผิวหมองคล้ำขึ้น ประกอบกับ พบว่าคนผิวคล้ำง่าย มักมีระดับกลูตาไธโอนน้อยลง ดังนั้น กลูตาไธโอนจึงมีส่วนช่วยปกป้องผิวจากการหมองคล้ำได้

4🧿 ผลเรื่อง Whitening effects

💎 ชนิดกิน ทั้งชนิด GSH, GSSG ขนาด 250 มก.ต่อวัน ไม่มีความแตกต่างของสีผิวก่อน-หลังกิน ทั้งบริเวณที่ถูกแดดและไม่ถูกแดด หลังติดตามไป 12 สัปดาห์
💎 ชนิดกิน แบบ GSH ขนาด 500-1000 มก.ต่อวัน มีบางงานวิจัยที่เห็นผลแตกต่างของผิว เฉพาะบริเวณที่ถูกแดด (ประมาณ 4 สัปดาห์)
แต่อีกหลายงานวิจัยที่บอกว่าไม่เห็นความแตกต่าง และพบว่าหลังรับประทานเข้าไปแล้วระดับยาคงอยู่ได้ไม่นานนัก
💎 ชนิดทา แบบ 2% GSSG lotion ทาเช้าเย็น พบว่าเห็นผลหลังทาประมาณ 10 สัปดาห์ ในบริเวณผิวที่ถูกแดด

5🧿 การกินกลูตาไธโอน

❌ ไม่ช่วยเรื่องรูขุมขนกว้าง
❌ ไม่ช่วยแก้ไขสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ
❌ ไม่ช่วยให้ผิวนุ่มหรือชุ่มชื้นขึ้น

6🧿 การทากลูตาไธโอน มีงานวิจัยที่บอกว่าหลังทา 2% GSSG lotion

✅ ช่วยให้ ผิวนุ่มชุ่มชื้นขึ้น ได้อย่างชัดเจนในทางสถิติ หลังทาเช้าเย็น 8 สัปดาห์ เพราะช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผิวได้
✅ ช่วย ลดริ้วรอยเล็ก ๆ ได้หลังทาเช้าเย็น 10 สัปดาห์
✅ ช่วย ผิวเรียบขึ้น หลังทาเช้าเย็น 6 สัปดาห์
❓ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นผิวได้ แต่ไม่ชัดเจนในทางสถิติ

7🧿 ผลข้างเคียงที่มีรายงานจากการกินและฉีดกลูตาไธโอน

🆘 คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด
🆘 ผื่นแพ้ลมพิษ แพ้รุนแรงจนเสียชีวิต
🆘 เกิดเป็นด่างขาว
🆘 ปัญหาทางการมองเห็น
🆘 ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
🆘 ไตวาย
🆘 ติดเชื้อจากเทคนิคการฉีด เช่น ตับอักเสบ HIV ติดเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือด

8🧿 ผลข้างเคียงจากการทา อาจมีผื่นแพ้ มักพบไม่ค่อยรุนแรง

🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰

สรุป การศึกษาข้อมูลของกลูตาไธโอน มีทั้งเห็นการเปลี่ยนแปลงและไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวประกอบการพิจารณาให้ดี

⭐️ ถ้าอยากลองทา ก็อาจจะเลือกแบบ Topical oxidized form ช่วยลดการสร้างเม็ดสี ผิวนุ่ม ชุ่มชื้น เรียบขึ้น และลดริ้วรอยเล็ก ๆ ได้
⭐️ กรณีแบบกิน 500-1000 มก ต่อวัน ใครอยากลองก็อาจจะลองดูได้ แต่ก็อาจจะเห็นผลหรือไม่เห็นผลก็ได้ งานวิจัยไปในทางไม่เห็นความแตกต่างมากกว่า
⭐️ กรณีแบบฉีด ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่อง whitening effect ‼️ แต่ ข้อมูลที่ชัดเจนจากแบบฉีด คือ ผลข้างเคียงที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น
💢 การแพ้ยารุนแรงจนเสียชีวิต
💢 การยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง เกิดเป็นด่างขาวถาวรที่แก้ไขไม่ได้
💢 ไตวาย

และอย่าลืมว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงสีผิวนั้น มัก เกิดเฉพาะบริเวณที่ถูกแดดเท่านั้น อาจจะไม่สามารถทำให้ขาวได้ทั้งตัว อย่างที่บอกคือ ขาวได้แค่ไหน .. ได้เท่าที่สีผิวที่หน้าท้องของตัวเองหรือมากกว่านั้นได้อีกไม่เกิน 1 ระดับ ถ้ามากกว่านั้นก็อาจจะเป็นไปได้ยาก คงต้องดูข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตต่อไปค่ะ

หมอเข้าใจดีว่าทุกคนอยากมีผิวสวยและขาวใส แต่ก่อนจะทาครีมหรือกินอะไรควรตั้งอยู่บน พื้นฐานของความเป็นไปได้จริง และ มีความปลอดภัย ด้วยจะดีที่สุดค่ะ
ด้วยความปรารถนาดีจาก คุณหมอเจี๊ยบ👩🏻‍⚕️

ชอบบทความนี้ไหมคะ—> พิมพ์💕💕💕และอยากฟังเรื่องอะไรต่อ คอมเม้นบอกได้เลยค่ะ

[ แชร์ได้เลยค่ะ แต่ไม่ copy หรือดัดแปลงบทความเป็นของตัวเองนะคะ หมอใช้เวลาอ่านรีวิวนานมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ 🙏🏻]
▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References

Glutathione: overview of its protective roles, measurement, and biosynthesis. Mol Aspects Med. 2009; 30: 1‐12.

Glutathione as a skin whitening agent: Facts, myths, evidence and controversies. Indian J Dermatol Venereol Leprol. 2016; 82: 262‐272.

Glutathione and its antiaging and antimelanogenic effects. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2017; 10: 147‐153.

The clinical effect of glutathione on skin color and other related skin conditions: A systematic review. J Cosmet Dermatol. 2019; 00: 1–10.

Systemic skin whitening/lightening agents: What is the evidence?. Indian J Dermatol Venereol Leprol 2013; 79: 842-6.

Safety on the Off-label Use of Glutathione Solution for Injection (IV). Food and Drug Administration, Department of Health, Republic of the Philippines; 2011.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

5 สกินแคร์ช่วยลดการสร้างเม็ดสี | เคล็ดลับผิวขาวใส ตอนที่ 2

สำหรับท่านที่เพิ่งเจอโพสนี้ อยากให้ไปเริ่มตอนที่ 1 เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นค่ะ

https://helloskinclinic.wordpress.com/2020/07/05/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%a7%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%83%e0%b8%aa-%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88/

วันนี้เราจะมาดูต่อกันว่า ..

⭐️ Active Ingredients ⭐️

ที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสีได้ มีตัวไหนบ้าง และควรต้องใช้ความเข้มข้นอย่างน้อยเท่าไหร่ที่มีงานวิจัยรองรับว่าออกฤทธิ์เห็นผลจริง

🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰
สกินแคร์ที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสี
เราแบ่งเหมือนกับกลุ่มรักษาสิว คือ

  1. กลุ่มยา ต้องสั่งจ่ายและควบคุมการใช้โดยแพทย์เฉพาะทาง เพราะความแรงสูง ประสิทธิภาพดีที่สุด แต่ผลข้างเคียงตามมาก็มากเช่นกัน
  2. กลุ่มเดอโมคอสเมติกส์ ประสิทธิภาพเกือบเท่าหรือบางตัวเทียบเคียงกลุ่มยา แต่ผลข้างเคียงน้อย ส่วนใหญ่มักมีจำหน่ายในโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์เฉพาะทาง
  3. กลุ่มคอสเมติกส์ กลุ่มนี้ปลอดภัย ใช้ได้ผล แต่ต้องยอมรับว่าไม่เท่า 2 กลุ่มแรก และทุกคนสามารถหาซื้อได้

หมอเชื่อว่า จบโพสนี้ทุกคนจะเลือกสกินแคร์ได้อย่างมั่นใจมากขึ้นตามบริบทของตัวเองค่ะ

มาดูกันว่าสกินแคร์ที่ทุกคนใช้เพื่ออยากให้ผิวขาวใสนั้น อยู่ในกลุ่มไหนบ้างนะ ⁉️

1️⃣ ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด
(มีบทความแล้วทั้งแบบกินและแบบทา)

2️⃣ ผลิตภัณฑ์ต้านอนุมูลอิสระ
💕 Ascorbic acid (มีบทความแล้ว)
💕 Mulberry
💕 Emblyca
💕 Pycnogynol
💕 Green tea
💕 Silymarin
💕 Grape seed extract
💕 Orchid
💕 Belides
💕 Tranexamic acid 5% (มีบทความชนิดกินแล้ว)
💕 Polypodium leucotomos (มีบทความแล้ว)
💕 Glutathione

3️⃣ ผลิตภัณฑ์เพิ่มการผลัดเซลล์ผิว
💕 Topical retinoic acid (มีบทความแล้ว)
💕 Chemical Peel (มีบทความ AHA,BHA,เครื่องล้างหน้า)

4️⃣ ผลิตภัณฑ์ยับยั้งการขนถ่ายเม็ดสี
💕 Topical retinoic acid (มีบทความแล้ว)
💕 Soy moisturizer
💕 Niacinamide 2-4%
💕 Belides

5️⃣ ผลิตภัณฑ์ยับยั้ง Tyrosinase
💕 Hydroquinone 2-4%
💕 Mequinol 2%
💕 Retinoic acid (มีบทความแล้ว)
💕 Azelaic acid 15-20% (มีบทความแล้ว)
💕 Arbutin/deoxyarbutin 3%
💕 Licorice
💕 Kojic acid 1-4%
💕 Ascorbic acid (มีบทความแล้ว)
💕 N-acetyl glucosamine 2%
💕 Aloesin
💕 Thiamidol
💕 Rucinol
💕 Emblica
💕 Mulberry
💕 Green tea
💕 Silymarin
💕 Glutathione

มีบางประเด็นสำคัญที่อยากแนะนำค่ะ

1⭐️ ควรเลือกชนิดที่ เหมาะสมกับสภาพผิวของตัวเอง อย่าเลือกตามเพื่อน โพสนี้หมอเพียงแนะนำส่วนประกอบเท่านั้น อย่าลืมว่ายังมีเรื่องของ #เบสและส่วนประกอบอื่นซึ่งต้องมาเลือกอีกว่าเหมาะกับผิวประเภทไหน อันนี้เอาไว้โพสถัดไปจะมาแนะนำนะคะ

2⭐️ การยับยั้ง หลายขั้นตอนได้ผลดีกว่าขั้นตอนเดียว ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยค่ะ ไม่ว่าจะใช้อะไรก็ตาม ยังไงก็คงจะขาดครีมกันแดดไม่ได้เลย

3⭐️ Standard treatment คือ hydroquinone โดยแพทย์สั่งจ่าย ความเข้มข้นที่แนะนำปลอดภัย คือ 2-4% เพื่อป้องกัน ฝ้าถาวรตามมาซึ่งอาจแก้ไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเป็นการซื้อมาใช้เอง ก็แนะนำในกลุ่มที่ไม่ใช่ hydroquinone จะปลอดภัยที่สุด อีกอย่างคือ สารนี้ต้องห้าม ไม่สามารถผสมในสกินแคร์ได้ ยกเว้นบางประเทศที่อนุญาตให้ได้ไม่เกิน 2% มีบางยี่ห้อเดี๋ยวมาเล่าให้ฟัง

4⭐️ รายละเอียดความเข้มข้นข้างต้น หมอนำมาให้ดูคร่าว ๆ แต่ บางตัวใช้เดี่ยวไม่ได้ผล ต้องร่วมกับตัวอื่น เช่น 2% mequinol ควรใช้คู่กับ 0.01% tretinoin เป็นต้น รายละเอียดเยอะมากเหมือนกันเอาไว้จะทยอยมาเล่าให้ฟังในเพจนะคะ

5⭐️ การใช้ยาหรือสกินแคร์ สามารถทำร่วมกับหัตถการหรือเลเซอร์บางชนิดได้ เพื่อให้เห็นผลดีขึ้น เช่น chemical peeling, dermabrasion, intense pulsed light therapy

6⭐️ หากคุณมีผิวหมองคล้ำ หรือ รอยด่างดำที่รักษาหรือทายาอะไรก็ไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง เพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของโรคอื่นใดที่ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีจำเพาะหรือไม่

อย่ารอให้เกิดผลข้างเคียงจากการลองผิดลองถูกจากการซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาใช้ตามคำชี้ชวน ‼️

อยากผิวสวยสุขภาพดี เกาะเพจคุณหมอเจี๊ยบไว้แน่น ๆ นะคะ
อ่านจบแล้วก็ไปทาวาสลีน ทาวิตามินเอ ปิดไฟนอนค่ะ 😊

ชอบบทความนี้มั้ย มีใครรอตอนที่ 3 บ้างคะ มีคนรอเยอะไหม เบื่อกันรึยังคะ —> พิมพ์หัวใจ บอกหน่อยค่า ❤️❤️❤️ จุ๊บบบบ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

พื้นฐานการสร้างเม็ดสีผิว | เคล็ดลับผิวขาวใส ตอนที่ 1

“หากเราเข้าใจ กระบวนการสร้างเม็ดสี อย่างถ่องแท้

เราจะสามารถมองหาสิ่งที่เรียกว่า Lightening agents ด้วยตัวเองได้เก่งขึ้นแน่นอน ‼️”

ตอนนี้เป็นตอนแรก จะเล่าพื้นฐานคร่าว ๆ ให้ทุกคนฟัง
ดูรูปประกอบจะเข้าใจง่ายขึ้นค่ะ

1🔰 มนุษย์เรามี เมลาโนไซต์ อยู่ที่บริเวณหนังกำพร้าชั้นล่างสุด โดยจะแทรกตัวอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเคอราติโนไซต์

2🔰 การสร้างเม็ดสีจะเกิดขึ้นภายในโรงงานที่เรียกว่า เมลาโนโซม (ซึ่งอยู่ในเมลาโนไซต์) โดยมีเอนไซม์ tyrosinase เข้ามาเกี่ยวข้อง

3🔰 หลังจากนั้นเมลานินที่สร้างได้ จะถูกเคลื่อนที่ส่งออกจากเมลาโนโซม ไปให้เคอราติโนไซต์ตัวข้างเคียง และส่งต่อไปยังผิวหนังชั้นบน ซึ่งทำให้เกิดสีผิวตามมา

4🔰 บางคนมีผิวออกแดงคล้ำ บางคนสีออกขาว ขึ้นกับชนิดของเม็ดสีที่ถูกสร้างขึ้น โดยถูกกำหนดมาแล้วจากพันธุกรรมในแต่ละบุคคล

5🔰 เมลานินก็ยังมีข้อดีคือ ช่วยป้องกันอันตรายของผิวหนังจากรังสียูวีได้

6🔰 ในขณะเดียวกัน การได้รับรังสียูวีก็เป็นอีกตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดกระบวนการสร้างเม็ดสีที่มากขึ้นได้

7🔰 นอกจากนั้นความแข็งแรงของ skin barrier ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการเกิดฝ้าลึกจากการมีเมลานินหล่นลงมาในผิวหนังชั้นล่างได้

8🔰 ปัจจัยที่ทำให้มีการสร้างเม็ดสีนอกจากแสงแดดแล้ว ยังมีเรื่องของ ฮอร์โมน พันธุกรรม ยาบางชนิด อีกด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากเราต้องการยับยั้งกระบวนการนี้ สามารถทำได้โดย

❣️ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase (Tyrosinase inhibition) ด้วยสารที่ออกฤทธิ์กลุ่ม Tyrosinase inhibitors

❣️ยับยั้งการขนส่งเมลานิน (Melanin transfer inhibition) จากผิวชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน

❣️เร่งการผลัดเซลล์เม็ดสีส่วนเกินที่ผิวชั้นบน (Increased epidermal turnover)

❣️ป้องกันแดด (UV protection)

❣️เสริมสร้าง skin barrier ให้แข็งแรง

วันนี้ทุกคนทำความเข้าใจเบสิคนี้ก่อน ว่าการยับยั้งการสร้างเม็ดสี มีหลักการทำอย่างไรได้บ้าง

อยากรู้แล้วใช่ไหมคะ ว่าใช้สกินแคร์อะไรได้บ้าง —> ใครอยากรู้ #ยกมือขึ้น และ #พิมพ์คำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับสกินแคร์ใต้โพสนี้เลยค่ะ 🙋🏻‍♀️🙋🏻

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

วิธีการยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว เพื่อผิวขาวใส

ขออธิบายสั้น ๆ ถึงกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวก่อน เพราะหากเราเข้าใจจุดนี้ เราจะสามารถมองหาสิ่งที่เรียกว่า Lightening agents ได้เก่งขึ้น (ดูรูปประกอบ)

มนุษย์เรามีเมลาโนไซต์อยู่ที่บริเวณหนังแท้ชั้นล่างสุด โดยจะแทรกตัวอยู่ระหว่างเคอราติโนไซต์ การสร้างเม็ดสีจะเกิดขึ้นภายในโรงงานที่เรียกว่า เมลาโนโซม (ซึ่งอยู่ในเมลาโนไซต์) โดยมีเอนไซม์ tyrosinase เข้ามาเกี่ยวข้อง หลังจากนั้นเมลานินที่สร้างได้ จะถูกเคลื่อนที่ส่งออกจากเมลาโนโซม ไปให้เคอราติโนไซต์ตัวข้างเคียง และส่งต่อไปยังผิวหนังชั้นบน ซึ่งทำให้เกิดสีผิวตามมา โดยบางคนมีผิวออกแดงคล้ำ บางคนสีออกขาว ขึ้นกับชนิดของเม็ดสีที่ถูกสร้างขึ้น และเมลานินก็ยังมีข้อดีคือ ช่วยป้องกันอันตรายของผิวหนังจากรังสียูวีได้ ในขณะเดียวกัน การได้รับรังสียูวีก็เป็นอีกตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดกระบวนการสร้างเม็ดสีที่มากขึ้นได้ นอกจากนั้นความแข็งแรงของ skin barrier ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการเกิดฝ้าลึกจากการมีเมลานินหล่นลงมาในผิวหนังชั้นล่างได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากเราต้องการยับยั้งกระบวนการนี้ สามารถทำได้โดย

  1. ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase (Tyrosinase inhibition) ด้วยสารที่ออกฤทธิ์กลุ่ม Tyrosinase inhibitors

a. Hydroquinone เป็น gold standard ในการรักษาฝ้าและรอยดำที่เห็นผลซึ่งใช้ 2-4% HQ แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่ตามมาค่อนข้างมาก ปัจจุบันจึงถือเป็นยาที่ต้องควบคุมการสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อาจมีบางประเทศที่กฏหมายอนุญาตให้ผสมในเครื่องสำอางได้ไม่เกิน 2%

b. ยาทาอื่น ๆ เช่น ยาทากลุ่มวิตามินเอ, azelaic acid

c. กลุ่มที่ไม่ใช่ยา เช่น arbutin/deoxyarbutin, licorice, kojic acid, ascorbic acid, resorcinol

  1. ยับยั้งการขนส่งเมลานิน (Melanin transfer inhibition)
  2. เร่งการผลัดเซลล์เม็ดสีส่วนเกินที่ผิวชั้นบน (Increased epidermal turnover) โดยวิธีการ Physical หรือ Chemical exfoliation ตรงนี้สามารถกลับไปอ่านในโพสก่อนนี้ได้
  3. ป้องกันแดด (UV protection)
  4. เสริมสร้าง skin barrier ให้แข็งแรง ด้วยมอยซ์เจอไรเซอร์


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.