Category Archives: Basic Skincare

6 ข้อควรรู้ สำหรับคนผิวแพ้ง่ายใช้อะไรก็แสบคัน ‼️

ผิวแพ้ง่าย

ก่อนจะเริ่มอ่านบทความนี้ อยากให้ทุกท่านลองสำรวจตัวเองดูก่อนว่า 

…คุณมีผิวแพ้ง่าย..หรือไม่ ?

เพราะถ้าหากผิวเราแพ้ง่าย การเลือกสกินแคร์และการดูแลผิวอาจต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมค่ะ

1. อาการแบบไหนที่บ่งบอกว่า “ผิวแพ้ง่าย ระคายเคืองง่าย”

• อาการแสดงของผิวหนังที่บ่งบอกว่าคุณเป็นผิวแพ้ง่าย ระคายเคืองง่าย ได้แก่

• แสบผิว ออกร้อน

• คันยุบยิบ

• ผื่นแดง ผด แห้ง ลอก

• รู้สึกไม่สบายผิว

โดยเฉพาะเมื่อถูกสิ่งกระตุ้นที่คนผิวปกติทั่วไปมักจะไม่มีอาการ

อาการแสดง ผิวแพ้ง่าย sensitive skin
อาการแสดงของ Sensitive Skin

2. ทำไมบางคนจึงเกิด Sensitive skin ขึ้นมาได้ ทั้งที่ไม่ค่อยใช้อะไรทาผิวมากมาย

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าการเกิดภาวะนี้อาจไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ใด ๆ ก็ได้ และเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

• Skin barrier ไม่แข็งแรง ทำให้สารก่อการระคายเคืองซึมลงผิวได้ง่ายขึ้น

• เส้นประสาทที่ผิวหนัง มีความไวมากขึ้น จึงเกิดการระคายเคืองผิวได้ง่ายขึ้น

• มีการกระตุ้นกระบวนการอักเสบผิวมากขึ้น จึงมักมีผิวแดง แสบ คัน ได้บ่อย ๆ

• มีความผิดปกติของยีนบางอย่าง

สาเหตุทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ผิวไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติทั่วไป

สาเหตุผิวแพ้ง่าย
สาเหตุของผิวแพ้ง่าย

3. ทำไมผิวคนเราจึงมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น

ผิวที่มีความไวมากขึ้นเกิดจากความผิดปกติ 2 อย่าง คือ

1) มีความผิดปกติของระบบเส้นประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนัง

2) มีสิ่งกระตุ้นให้มักทำให้อาการกำเริบ ได้แก่

• ความร้อน

• แสงยูวี

• ฝุ่น PM2.5

• อากาศเปลี่ยนแปลง

• ส่วนประกอบในสกินแคร์บางอย่าง

• ฮอร์โมน อารมณ์และความเครียด

สิ่งกระตุ้นเหล่านี้จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของ barrier function ร่วมกับ มีการอักเสบที่ผิวตามมาได้ค่ะ

สิ่งกระตุ้นให้ผื่นเห่อ ผิวแพ้ง่าย
สิ่งกระตุ้นให้ผื่นกำเริบ

4. มีการทดสอบอะไรช่วยวินิจฉัยโรคนี้หรือไม่

โดยปกติจะให้การวินิจฉัยภาวะ Sensitive Skin Syndrome จากอาการและอาการแสดง หากไม่แน่ใจอาจใช้วิธีการทดสอบช่วยวินิจฉัยได้

เช่น การใช้ 10% Lactic acid หรือ Capsaicin ทาบริเวณซอกจมูก และ โหนกแก้ม แล้วดูว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ หรือวิธีการทดสอบอื่น ๆ ซึ่งจะไม่ได้กล่าว ณ ที่นี้

5. หากเป็นภาวะนี้แล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

• หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้น เช่น แสงแดด, ฝุ่น PM2.5, ความเครียด, การแกะเกาที่ผิว

• หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อการระคายเคืองผิว เช่น

❌ ยาทาสิวกลุ่ม tretinoin, BPO

❌ สกินแคร์หรือยาที่มี alcohol, น้ำหอม, สารกันเสีย

❌ สารกลุ่มผลัดเซลล์ผิว เช่น glycolic acid

• ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ แนะนำเป็น Physical sunscreen จะระคายเคืองน้อยกว่า Chemical sunscreen

• ล้างหน้าให้สะอาดเพื่อลดการระคายเคืองจากสารตกค้างที่ผิว

• ปรับมอยเจอไรเซอร์ให้เหมาะสม

• หากมีผื่นกำเริบ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยอาจพิจารณาใช้ยาทากลุ่ม topical immunomodulators และการรักษาอื่นขึ้นกับแพทย์พิจารณา

การปฏิบัติตัวเมื่อผิวแพ้ง่าย ระคายเคือง sensitive skin
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็น Sensitive skin

6. มอยเจอไรเซอร์สำหรับ Sensitive Skin ควรเลือกแบบไหน

• มอยเจอไรเซอร์ควรเลือกที่มีคุณสมบัติที่แก้ปัญหาตรงจุดตามปัญหาผิว คือ

1) ช่วยบำรุงกำแพงผิว

2) ช่วยลดการอักเสบผิว

3) มีส่วนผสมที่ช่วยปลอบประโลมลดความไวของตัวรับเส้นประสาทที่ผิว

ยกตัวอย่าง Defensive Technology ลิขสิทธิ์เฉพาะของ Bioderma ก็มีคุณสมบัติครบทั้งสามอย่าง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตอนท้าย)

• แนะนำ fragrance-free

• เลี่ยงสารที่อาจก่อการแพ้สัมผัสหรือระคายเคืองได้บ่อย เช่น lanolin, wool alcohols

• เลี่ยงการใช้ surfactant ที่อาจระคายเคืองมาก โดยเฉพาะกลุ่ม anionic or cationic เช่น sodium lauryl sulfate, sodium laurate เป็นต้น

Skincare สำหรับผิวแพ้ง่าย
คุณสมบัติ Skincare สำหรับผิวแพ้ง่าย

สุดท้ายสิ่งสำคัญ การมีปัญหาหน้าแดง คัน แสบ สามารถเป็นได้จากหลายโรค ซึ่งก่อนให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ Sensitive skin syndrome ตามที่เล่ามาทั้งหมดในโพสนี้ จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันออกไปก่อน เช่น ผื่นแพ้สัมผัส, แพ้แดด, โรคภูมิแพ้ผิวหนัง, ภาวะโรเซเชีย เป็นต้น

หากไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นภาวะ Sensitive Skin Syndrome หรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังช่วยประเมินนะคะ

ถ้าหากเห็นว่าบทความมีประโยชน์ อย่าลืมแชร์ให้เพื่อน ๆ คนอื่น ได้อ่านบทความนี้ด้วยกันนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี

——————————————

References:

Am J Clin Dermatol. 2020 Jun;21(3):401-409.

J Drugs Dermatol. 2019;18(1 Suppl.):s68-74.

Actas Dermosifiliogr (Engl Ed). 2019 Dec;110(10):800-808.

Arch Toxicol 2015;89(12):2339-444.

Int J Cosmet Sci. 2012;35(1):2-8.

Int J Cosmet Sci. 2011;33(5):421-5.

Dermatol Ther 2004;17(Suppl 1):16-25.

——————————————

[Disclaimer] สนับสนุนความรู้โดย

Bioderma Sensibio Defensive

Bioderma Sensibio Defensive

ครีมบำรุงผิว เหมาะสำหรับผิวแพ้ระคายเคืองง่าย

คิดค้นขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ Defensive technology ซึ่งมีคุณสมบัติหลัก 3 ประการ จากสารประกอบหลัก ได้แก่

▫️ Carnosine + Vitamin E ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ antipollution ซึ่งมีข้อมูลพบว่าช่วยลด oxidative stress ได้มากกว่ากลุ่ม control ถึง 75%

▫️ Tetrapeptide-10 ช่วยเสริมความแข็งแรงของกำแพงผิว โดยข้อมูลในหลอดทดลองพบว่า สามารถเพิ่ม filaggrin gene, involucrin, loricrin, เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ transglutaminase และเพิ่มโปรตีน corneodesmosin ที่ชั้นผิวได้ 46%

▫️ Red sage polyphenols ช่วยลดการอักเสบผิว จาก 2 กลไก คือ

1) ยับยั้งการกระตุ้น TRPV1 receptor ซึ่งเป็นตัวรับความรู้สึกปวดบริเวณปลายประสาท ส่งผลให้ลดอาการแสบ คัน ยุบยิบลดลง 

2) ลดการหลั่ง PGE2, COX-2 จากเซลล์ keratonocyte, ลดการหลั่ง IL-1a จึงส่งผลให้กระบวนการอักเสบผิวลดลง 36%

ข้อมูลการทดลองจาก Bioderma พบว่า ช่วยปลอบประโลมผิวลดอาการแดง แสบ คัน ได้อย่างชัดเจนในนาทีที่ 3 หลังการทา & ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นผิวได้นาน 12 ชั่วโมง เมื่อใช้ต่อเนื่อง 28 วัน

เนื้อครีมเกลี่ยง่าย ไม่เหนอะ

*การตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์และการรักษาขึ้นกับสภาพผิวของแต่ละบุคคล

——————————————

อ่านบทความย้อนหลัง www.helloskinderm.com (คลิก)

รวมลิ้งค์ https://linktr.ee/drwarayuwadee

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

 

 

 

 

 

 

 

 

Step เลือกสกินแคร์เริ่มแบบนี้

Skincare Routine Step​ เริ่มต้นเลือกสกินแคร์
Skincare Routine Step

Step 1

เช็คสภาพผิวของตัวเองก่อน และต้องเช็คเรื่อยๆ เพราะสภาพผิวสามารถเปลี่ยนได้

https://www.facebook.com/476743752739537/posts/994477387632835/?d=n

https://youtu.be/tjEx82EuhLU

Step 2

เลือกสกินแคร์เบสิคที่ควรมีให้ครบก่อน
หลังจากนั้นใช้ไป 1-2 เดือน มาดูยังเหลือปัญหาอะไรที่อยากแก้ไขเพิ่มเติม

Step 3

เลือกสกินแคร์แก้ไขปัญหาของแต่ละบุคคล เช่น
ผิวขาดน้ำ -> เติมน้ำ เติม hya
ผิวแห้งระคายเคือง -> เลือกส่วนผสมลดการระคายเคือง ส่วนมากจะรวมในมอยเจอไรเซอร์ ลองเลือกดู
ผิวชรา -> เน้นเพิ่ม antioxidant, กลุ่มวิตามินเอหรืออนุพันธ์ (ถ้าใช้ยาอยู่แล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มสกินแคร์วิตามินเอก็ได้)
ผิวหมองคล้ำ รอยดำ ฝ้ากระ -> เน้นกันแดด เพิ่มกลุ่ม Lightening

Step 4

มองหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเอง
ในลิ้งค์ HELLOSKINDERM หรือ QR code เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาให้สำหรับคนไม่มีเวลาหาข้อมูลค่ะ เดี๋ยวมาอัพเดทข้อมูลเรื่อย ๆ นะ

#saveไว้ได้ใช้แน่


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ทาครีมเท่าไหร่..ให้เห็นผลและไม่สิ้นเปลือง

ปริมาณการทาครีมเท่าไหร่ที่เห็นผลและไม่สิ้นเปลือง ⁉️

ความจริงแล้วไม่มีปริมาณที่ระบุเป๊ะ ๆ ตายตัวที่แน่นอน เพียงแค่ว่า.. ปริมาณที่แนะนำนั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ….

ไม่มากเกินไป -> จนก่อให้เกิดการระคายเคืองและภาวะแทรกซ้อน และหากเป็นการทาตอนเช้า ก็อาจทำให้แต่งหน้าต่อได้ยากขึ้นอีกด้วย

ไม่น้อยเกินไป -> จนทาไปแล้วก็ไม่ได้ผล ไม่ต่างกับไม่ทาอะไรเลย

Sunscreen

ใช้มากกว่าครีมทั่วไป เพื่อการปกป้องที่ได้ผล อันนี้ต้องยอมลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าให้เลือกทาอย่างเดียวก่อนออกจากบ้าน สำหรับหมอเองก็คงต้องเป็นครีมกันแดดแน่นอนค่ะ ทราบไหมว่า..การทากันแดดอย่างถูกวิธี ช่วยให้หน้าขาวใสขึ้นได้ และป้องกันฝ้า กระ มะเร็งผิวหนังได้ด้วย ลองดูนะคะ

Vitamin A derivatives cream

ใช้แต่น้อยก็เห็นผล พวกนี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องและใช้เวลา อย่างน้อยก็ 3 เดือนขึ้นไป ต้องทาไปเรื่อย ๆ และใจเย็น อย่ากลัวว่าจะไม่ได้ผลโดยการทาทีละมาก ๆ การทามาก ๆ จะทำให้มีผลข้างเคียงมากกว่าผลดี ส่วนใครที่ระคายเคืองมากก็อาจต้องลดปริมาณหรือทาเพียงบางบริเวณไปสักระยะ

Serum

กลุ่มนี้ทำมาเข้มข้นมากอยู่แล้ว ต่างจากพวกน้ำตบ โลชั่น หรือโทนเนอร์ ดังนั้น ใช้แต่พอเหมาะ ไม่ต้องเยอะมาก เยอะมากไปอาจระคายเคืองและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ใช้เพียง 2-3 หยด แต้ม 5 จุดแล้วเกลี่ยบางๆ รีบทาเพราะซึมเร็ว พวก oil-based จะใช้น้อยกว่า water-based เนื่องจากเนื้อครีมที่หนากว่า คนหน้าใหญ่อนุโลม +1 หยดได้

Cleanser

ไม่ต้องใช้เยอะ เอาพอเหมาะ เยอะเกินไปจะชำระล้างไขมันหรือสารต่าง ๆ ที่เคลือบผิวออกไปหมด สุดท้ายผิวแห้ง เกิดการระคายเคืองได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันอย่าใช้น้อยไป เพราะอาจทำให้ชำระล้างสิ่งสกปรกออกไปหมด เกิดสิวอุดตันตามมา

Eye cream

ไม่ต้องเยอะมาก เมล็ดถั่วเขียวต่อตา 1 ข้างเพียงพอสำหรับผิวที่บอบบาง ตอนทาควรใช้นิ้วนาง เพื่อลดการลงน้ำหนักตอนทาที่มากเกินไป บริเวณนี้เน้นเบาๆ ทาแรงไปอาจเกิดริ้วรอยตามมา

Scrub

ใช้เฉพาะบางราย ไม่แนะนำให้ใช้ทุกคน และการสครับควรเว้นบริเวณรอบตา รอบปาก ข้างจมูก บริเวณที่บอบบาง เพราะอาจระคายเคืองได้

Facial Mask

ไม่ต้องใช้ทุกราย ถ้าครีมเพียงพอแล้ว อาจไม่ต้องมาสก์ก็ได้

อย่าลืมว่าผิวแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำแนะนำข้างต้นนี้เพื่อเป็นไอเดียให้ลองนำไปปรับใช้ในการดูแลผิวกันนะคะ ได้ผลยังไงมาเล่าสู่กันฟังได้เลย

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ลองสำรวจดูว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ มี BHA ซ้ำซ้อนกันในเวลาเดียวกันหรือไม่ ⁉️

BHA เช่น Salicylic acid, Lipohydroxy acid
ละลายได้ดีในไขมัน มีคุณสมบัติเด่นคือ

• ซึมผ่านบริเวณรูขุมขนลงไปผิวหนังชั้นที่ลึกกว่าได้ (Deep penetration through the lipid barrier of epidermis) ซึ่งเป็นสิ่งที่ AHA ทำไม่ได้
• ละลายสิวที่อุดตัน (Comedolytic effect)
ผลที่ตามมา คือ ทำให้สิวอุดตันลดลง
• ลดการสร้าง sebum (Minimized sebum production)
ผลที่ตามมา คือ ควบคุมความมันของผิว
• ออกฤทธิ์ลดการอักเสบได้ (Anti inflammatory effect)
ผลที่ตามมา คือ ช่วยลดการอักเสบของสิว ส่งผลให้เกิดรอยดำหลังการเกิดสิวลดลงตามมา

ดังนั้น BHA เหมาะสำหรับคนที่ปัญหาผิว ดังนี้
▫️สิวทุกชนิด ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตัน (Inflammatory and comedonal acne)
▫️หน้ามัน (Oily skin)

ส่วนคนที่ผิวแห้งหรือระคายเคืองง่าย ถ้าอยากใช้ BHA แนะนำว่าให้เลือกแบรนด์ที่มีส่วนผสมที่ช่วยลดการระคายเคืองและเพิ่มความความชุ่มชื้นร่วมด้วย หรือเลือก BHA รูปแบบที่ระคายเคืองน้อย โดยจะดูที่ปริมาณ % เท่านั้นไม่ได้ค่ะ เช่น Betaine Salicylate 4% เทียบผลแล้วอาจได้ประมาณ 1-2% Salicylic acid เป็นต้น ไว้จะมาเล่าให้ฟังทีหลัง

โพสนี้ไม่ได้เล่าละเอียดในส่วนผสมของแต่ละผลิตภัณฑ์ เพียงแต่มีหลายครั้งที่ชอบเจอคำถามว่าใช้ตัวหนึ่งทาทับกับอีกตัวได้ไหม อยากให้ลองสำรวจดูว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ BHA ซ้ำซ้อนกันในเวลาเดียวกันหรือไม่ ถ้ามีก็ควรจะแยกเวลาใช้ หรือ เลือกตัวใดตัวหนึ่ง ก็จะช่วยลดผลข้างเคียงได้ค่ะ


ดูคลิป AHA & BHA เพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์นี้
https://youtu.be/svfWKAe8niQ


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

7 สกินแคร์พื้นฐานที่ควรมี

แชร์ไอเดีย Step 1 เบสิคพื้นฐาน

❌ หากทาสกินแคร์เหมือนกัน 2 ชิ้นทับกัน แนะนำเอาออกไป 1 เช่น F วิตามินซีมา 3 ยี่ห้อ ทาทับ ๆ กันหลายชั้นอาจดูเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

❌ หากขาด แนะนำหาเพิ่มชิ้นเดียวพอค่ะ ไม่ต้องกวาดหรือ F มาหลายยี่ห้อให้สิ้นเปลือง ทดลองทีละขวดถ้าไม่ถูกใจค่อยเปลี่ยนใหม่

✅ บางอันผสมในชิ้นเดียวกันแล้ว ช่วยลดขั้นตอนได้ เช่น ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มี antioxidant รวมอยู่

✅ โพสนี้พื้นฐานแบบไม่มีปัญหาผิวอะไรต้องแก้เพิ่มเติม ถ้ามีปัญหาอื่น เช่น สิว ฝ้า รอยดำ ริ้วรอย ต้องเพิ่มสเต็ปถัดไป ถ้าครบพื้นฐานแล้ว -> รออ่าน Step 2

สรุปเบสิค

☀️ตอนเช้า
เน้นบำรุง ปกป้องผิวจากมลภาวะและแสงแดด จึงต้องเน้นครีมกันแดด และ antioxidants
🌙 ก่อนนอน
เน้นบำรุง แก้ไขปัญหา ซ่อมแซมผิว ฟื้นฟู จึงควรเน้นกลุ่มที่กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ เช่น วิตามินเอ

ไหนขอดูรูทีนของแต่ละคนหน่อยซิ

Anti-Pollution Diet & Skin Care Routines

ทุกวันเราตื่นขึ้นมาไม่ว่าจะออกไปทำงานนอกบ้าน หรือมีกิจกรรมในบ้านก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพบเจอมลภาวะและฝุ่น PM2.5 ถึงแม้จะใส่มาสก์กันฝุ่นก็เป็นวิธีที่ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า การใส่มาสก์ก็ไม่สามารถช่วยปกป้องผิวหน้าเราได้ทั้งหมดอยู่ดี

มีข้อมูลศึกษาพบว่า หากสูดดมฝุ่นมลภาวะเข้าไปในร่างกายมากถึงระดับหนึ่ง อาจส่งผลต่ออวัยวะภายใน เช่น ปอด หัวใจ นอกจากนั้นมลภาวะทางอากาศบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง สารละลายต่าง ๆ ปรอท อะครีเลท ไฮโดรคาร์บอน โลหะหนักบางชนิด ฯลฯ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อผิวหนังได้โดยการดูดซึมผ่านผิว, รูขุมขนและท่อเหงื่อได้ขึ้นกับชนิดสารนั้น

Air Pollutions จะส่งผลต่อผิวหนังทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

ในระยะสั้น

ก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบระคายเคือง, skin barrier dysfunction และยังกระตุ้นให้เกิดการกำเริบของผื่นผิวหนังบางชนิดได้ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis), สะเก็ดเงิน (Psoriasis) และพบว่าอนุภาคที่มีขนาดที่เล็กมาก ๆ สามารถแทรกซึมลงไปเกิดการอุดตันรูขุมขนก่อให้เกิดสิวอุดตันและอักเสบได้ ผิวมันจากการหลั่งน้ำมันผิวมากขึ้น (Increased sebum) และยังพบว่า vitamin E, squalene ที่ผิวลดลงด้วย

ในระยะยาว

พบว่าฝุ่น PM2.5 ยังสามารถรวมตัวกับโมเลกุลของโลหะต่าง ๆ บางชนิดอาจมีรังสี UV เป็นตัวกระตุ้น และทำร้ายผิวชั้นลึกลงไป ส่งผลให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย (Photoaging) ฝ้า กระ รอยดำ (Lentigines, Senile lentigines) จากการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีตามมา

เมื่อรู้ดังนี้แล้วถ้าหากใครไม่อยากให้ผิวเสื่อมไว มีฝ้า กระ รอยดำมากขึ้น หรือใครที่มีผิวแห้งอักเสบ ระคายเคืองง่าย ก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญในการดูแลผิวเป็นพิเศษ

หมอมีเคล็ดลับการปกป้องผิวจากมลภาวะทางอากาศมาแนะนำดังนี้ค่ะ

1. ดื่มน้ำวันละ 1-2 ลิตร

2. อาหารเสริมหรือวิตามินต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เช่น วิตามิน B3, C, E, โอเมก้า 3, เบต้าแคโรทีน, Selenium, coQ10, Polypodium leucotomos, Green tea, Lipoic acid เหล่านี้จะช่วยปกป้องผิวจากสารอนุมูลอิสระที่เกิดจาก Air pollution

3. เน้นอาหาร Mediterranean diet เช่น พวกผัก ผลไม้ ธัญพืช น้ำมันมะกอก ปลา สัตว์ปีก พืชตระกูลถั่วฝัก เพราะอาหารเหล่านี้มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก (High-antioxidant diet)

4. Anti-pollution skin care regimen ดูแลผิวอย่างถูกวิธี แบ่งเป็นขั้นตอนเช้า & เย็น ดังนี้

☀️ Morning Regimen

✔️ ล้างหน้าให้สะอาดด้วย gentle cleanser

✔️ สามารถใช้ Silicone-based Primer หรือ Moisturizer ที่เหมาะกับผิวเพื่อเสริมกำแพงผิวให้แข็งแรง ไม่ระคายเคืองง่าย และอาจมีส่วนผสม Topical antioxidant ที่มี evidence-based เช่น วิตามิน A, Niacinamide, C, E, Green tea, coenzyme Q10, resveratrol เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อปกป้องผิวจากมลภาวะและอนุมูลอิสระที่จะต้องเผชิญในแต่ละวัน

✔️ ทาครีมกันแดดทุกเช้า แนะนำ Broad spectrum sunscreen

✔️ สามารถใช้ครีมรองพื้นและแต่งหน้าได้ ไม่ใช่ข้อห้ามค่ะ

🌙 Evening Regimen

✔️ ล้างหน้าให้สะอาด ขั้นตอนนี้ตอนเย็นสำคัญมาก ต้องใส่ใจให้มากกว่าการล้างหน้าตอนเช้า เพราะผิวเราสะสมสิ่งสกปรกและมลภาวะมาทั้งวัน ถ้าหากล้างด้วย Cleanser แล้วยังรู้สึกไม่สะอาด อาจใช้ double cleanser ร่วมด้วย

✔️ หากแต่งหน้า ควรใช้ Makeup remover เสมอ

✔️ แนะนำ Evening Moisturizer ที่มีส่วนผสม repair ingredients เช่น DNA repair cream, resveratrol, retinoids, hyaluronic/chondroitin sulfate, ectoin เป็นต้น

ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ ไปปรับใช้กับตัวเองดูนะคะ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Basic Skincare Routine สำหรับผู้เริ่มต้นดูแลผิว

Basic Skincare Routine
หากไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี เริ่มจากตรงนี้เลยค่ะ ‼️

สูตรนี้เหมาะสำหรับ

• กลุ่มช่วงอายุ 20-30 ปี
• คนที่เริ่มหันมาใส่ใจดูแลผิวหน้า แต่ไม่รู้จะเลือกใช้อะไรดี
• คนที่ผิวหน้าไม่ค่อยมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขพิเศษ

สิ่งที่ควรเน้นในวัยนี้

• บำรุงเพิ่มความชุ่มชื้นด้วย Moisturizer
• ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วย Sunscreen
• ผลัดเซลล์ผิวด้วย Exfoliants

1. Sunscreen

ครีมกันแดดควรทาทุกเช้า หากเป็นกิจวัตรประจำวันทั่วไป แนะนำให้ใช้ที่ป้องกันได้ทั้ง UVA, UVB อย่างน้อย SPF30 หรือหากเป็น physical sunscreen ควรอย่างน้อย 5% zinc oxide

2. Moisturizer

ช่วยบำรุงผิว เพิ่มความชุ่มชื้นผิว และช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ที่ผิวเป็นไปอย่างสมดุล

ผิวมันหรือผิวผสม
แนะนำกลุ่ม Humectant
เช่น Glycerin, Hyaluronic acid, Lactic, Urea เป็นต้น

ผิวแห้ง
อาจใช้กลุ่ม Emollient
เช่น Ceramide, Cholesteral, Squalene, Plant oil
หรือใช้กลุ่ม Humectant ข้างต้น ร่วมกับ Occlusive
เช่น Dimethicone, Petroleum jelly, Mineral oil, Bee wax เป็นต้น

3. Exfoliants

ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว ช่วยปรับสภาพผิวให้สมบูรณ์ ผลัดเอาเซลล์ผิวชั้นบนที่ตายแล้วให้หลุดออกไป โดยไม่ได้ทำให้ผิวหนังบางลงอย่างที่หลายคนกังวลใจ
ถ้าหากใครได้ฟังคาบที่หมอได้สอนเรื่อง Antiaging Skincare คงจำได้ว่ากระบวนการผลัดเซลล์ผิวเราจะเริ่มช้าลงตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปี ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ร่วมด้วย โดยอาจใช้เพียงแค่ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ก็เพียงพอค่ะ
กลุ่มนี้ เช่น alpha hydroxy acid เป็นต้น

4. Cleanser

การล้างหน้าให้สะอาดเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นขั้นตอนแรกของการเริ่มดูแลผิวในแต่ละวันค่ะ หากล้างไม่สะอาดก็อาจเกิดการอุดตันของรูขุมขนตามมา และทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่จะทาลงไปนั้นลดลงได้ แนะนำให้ทุกคนหาผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่เหมาะกับสภาพผิวตัวเองไว้เลยค่ะ

ส่วนคนที่อายุ 20-30 ปี และเป็นสิวก็ใช้ step นี้ได้ แต่เลือกกลุ่ม Moisturizer เป็นสำหรับกลุ่มสิวแทน ลองดูในโพสก่อนนี้เพิ่มเติมได้ค่ะ

สุภาพบุรุษทั้งหลายที่ไม่ชอบทาครีม ทาเท่านี้ก่อนก็ได้ค่ะ เชื่อว่าถ้าผิวเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีแล้วจะอยากดูแลผิวมากขึ้นไปอีกแน่เลย

ใครผ่าน step นี้แล้ว มารอฟังขั้นตอนต่อไปจะเพิ่มอะไรยังไงดี

เป็นอย่างไรบ้างคะ ใครชอบบทความ Basic Skincare Routine นี้บ้าง
อยากให้ต่อไปแนะนำเป็นสูตรสำหรับใครดีคะ คอมเม้นท์มาได้เลยนะคะ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

สกินแคร์แต่ละกลุ่มต่างกันอย่างไร

ลองดูตามนี้คร่าว ๆ นะคะ

ส่วนการพิจารณาเลือกคงเป็นเรื่องของตัวบุคคล และขึ้นกับปัญหาผิวที่ต้องการแก้ไข เพราะปัญหาบางอย่างอาจต้องใช้ยาที่สั่งการรักษาด้วยแพทย์ บางอย่างสามารถใช้คอสเมติกส์ตามท้องตลาดก็เห็นผลได้ค่ะ

1. กลุ่มยา
ต้องสั่งจ่ายและควบคุมการใช้โดยแพทย์เฉพาะทาง เพราะความแรงสูง ประสิทธิภาพดีที่สุด แต่ผลข้างเคียงตามมาก็มากเช่นกัน

2. กลุ่มเดอโมคอสเมติกส์
ประสิทธิภาพเกือบเท่าหรือบางตัวเทียบเคียงกลุ่มยา แต่ผลข้างเคียงน้อย ส่วนใหญ่มักมีจำหน่ายในโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์เฉพาะทาง ปัจจุบันคนให้ความสนใจกลุ่มนี้มากขึ้น

3. กลุ่มคอสเมติกส์
กลุ่มนี้ปลอดภัย ใช้ได้ผล แต่ต้องยอมรับว่าไม่เท่า 2 กลุ่มแรก และสามารถหาซื้อได้ แต่มีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก แนะนำศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกซื้อ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

4 Steps เช็คสภาพผิวก่อนเลือกซื้อสกินแคร์

เชื่อไหมว่า..เพียงแค่เลือกสกินแคร์ให้ตรงกับสภาพผิว ก็ทำให้ผิวดีขึ้นได้แล้ว‼️

ถ้าอยากให้ผิวสวยแบบไม่ต้องเสียเงินไปอย่างสูญเปล่า กับการซื้อสกินแคร์ที่ไม่ตรงกับผิวตัวเอง ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณมีผิวประเภทไหน

มาเริ่มเลยค่ะ

4 ขั้นตอนเช็คง่าย ๆ ว่าคุณมีผิวประเภทไหน❓

1.🔴 เช็ดเครื่องสำอางและล้างหน้าให้สะอาด แล้วรอ 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้ทาครีมและไม่มีการสัมผัสใบหน้าใด ๆ แล้วดูว่าความรู้สึกที่ผิวหน้าเป็นอย่างไร ❓
• ถ้าสบายผิวดี —> อ่านต่อข้อ 2.🟡
• ถ้ารู้สึกแห้งตึง —> อ่านต่อข้อ 4.🟢

2.🟡 รออีก 1-2 ชั่วโมงถัดมา แล้วลองใช้ทิชชูซับที่ผิวหน้าบริเวณ T-zone ดูซิว่ามีความมันจากผิวหน้า ติดมากับทิชชูหรือไม่ ❓
• ถ้าไม่มีน้ำมันติด —> ผิวปกติ (Normal skin)
• ถ้ามีน้ำมันติด —> อ่านต่อข้อ 3.🟣

3.🟣 ต่อไปสังเกตที่แก้ม ดูว่าแห้งตึงหรือไม่ ❓
• ถ้าแก้มไม่แห้งตึง —> ผิวมัน (Oily skin)
• ถ้าแก้มแห้งตึง —> ผิวผสม (Combination skin)

4.🟢 ลองดูว่ามีอาการหน้าแดง แสบ คัน หรือไม่❓
• ถ้าไม่มี —> ผิวแห้ง (Dry skin)
• ถ้ามี —> ผิวแพ้ง่าย (Sensitive skin)

หลายคนอินบอกซ์มาบอกหมอว่า หลังจากปรับลำดับการทาครีมตามที่หมอแนะนำไป 2-3 สัปดาห์ โดยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนครีมอะไร สภาพผิวก็ดีขึ้นมากเลย และนี่เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้ผิวของทุกคนดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ

“ลำดับการทาครีมที่ว่าสำคัญมาก ๆ แล้วนั้น การเลือกสกินแคร์ให้ตรงกับสภาพผิวก็สำคัญมาก ๆ ไม่แพ้กัน”

ไหนลองตอบสิคะ..ว่าคุณมีผิวประเภทไหน‼️

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.