Category Archives: Hair disease

ขนคิ้วร่วง..บอกโรคได้นะ

ขนคิ้วร่วง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรคทางพันธุกรรม หรือ โรคทางกายอื่น ๆ หากไม่แน่ใจว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางช่วยประเมินค่ะ

ขนคิ้วร่วง อาจเรียกว่า “Madarosis” เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

• โรคทางพันธุกรรม
• โรคติดเชื้อ เช่น เชื้อรา, ซิฟิลิส, โรคเรื้อน, วัณโรค
• โรคทางอิมมูน เช่น รากผมอักเสบ, เอสแอลอี, โรคหนังแข็ง
• โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์
• โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดลูคีเมีย/ลิมโฟมา
• โรคจากการสะสมสารที่ผิวหนัง เช่น sarcoidosis, amyloidosis, scleromyxedema, alopecia mucinosa
• โรคดึงขนคิ้วตัวเอง (Trichotillomania)
และโรคอื่น ๆ อีก

ซึ่งจะต้องใช้วิธีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และ ตรวจเพิ่มทางห้องปฏิบัติการ อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย

หากไม่แน่ใจว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางช่วยประเมิน

ภาพสรุป

ขนคิ้วร่วง madarosis
ขนคิ้วร่วง madarosis

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

อากาศเปลี่ยนทำไม “รังแค” มาจัง ⁉️

หลายคนพออากาศเย็นก็มีรังแคเห่อคันมากขึ้น เรามาทำความเข้าใจเรื่อง รังแคที่หนังศีรษะ ในโพสนี้ค่ะ

ความจริงแล้วรังแคเป็นภาวะที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาให้ภาวะกำเริบหายเร็วขึ้น ส่วนมากใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ต่อการรักษาในแต่ละครั้งของการกำเริบ ร่วมกับการกำจัดปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วยไปพร้อมกัน

1. รังแคที่หนังศีรษะ เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคเซบเดิร์ม

บางคนอาจมีผื่นขุยอักเสบในบริเวณอื่นร่วมด้วย โดยมักจะเป็นที่บริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น หัวคิ้ว ไรผม ร่องจมูก เครา หลัง หน้าอก

2. รังแคไม่ได้เกิดจากความสกปรก

แต่มีสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมีต่อมไขมันอักเสบขึ้น ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

ต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป จึงเห็นได้ว่า รังแคและผื่นเซบเดิร์มมักเกิดผื่นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น ร่องแก้ม หัวคิ้ว หนังศีรษะ อก หลัง เป็นต้น

ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่หนังศีรษะ (Scalp microbiome) ทำให้เกิดการก่อโรค ได้แก่ ยีสต์ Malassezia sp. ซึ่งชอบไขมัน หรือ แบคทีเรีย Staphylococcus, Propionibacterium ที่มากขึ้น

• สภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศเย็น ฤดูหนาว ความชื้นต่ำ ผิวแห้ง จะทำให้รังแคเห่อมากขึ้น

ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายขาดสมดุล จึงทำให้มีรังแคกำเริบได้

• การดื่มแอลกอฮอล์มากไป

• การเสียดสี แกะเกา เป็นการกระตุ้นอีกทางที่ทำให้ผื่นรังแคเห่อมากขึ้น

ปัจจัยทางกรรมพันธุ์

3. ภาวะขาดวิตามินบางอย่างก็สามารถทำให้เกิดรังแคหรือผื่นเซบเดิร์มได้

เช่น วิตามิน B2, B6, Zinc ดังนั้น การทานวิตามินเหล่านี้เสริม สามารถทำได้ในกรณีที่มีการขาดวิตามินร่วมด้วย

4. แชมพูขจัดรังแคตามท้องตลาด

หากมองหาแชมพูตามท้องตลาดที่สามารถขจัดรังแคและควบคุมความมันที่หนังศีรษะได้ ควรเลือกส่วนผสมที่มีสารออกฤทธิ์หลัก เช่น

• Zinc pyrithione 0.5-1% shampoo

• Salicylic acid shampoo

• Sulfur shampoo

5. หากสระผมด้วยแชมพูขจัดรังแคทั่วไปตามข้อ 4 นานประมาณ 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

แนะนำให้ลองปรับเป็นกลุ่มแชมพูยา เพราะกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ตัวที่มีข้อมูลว่าช่วยเรื่องรังแค และหาได้ไม่ยากตามร้านขายยาทั่วไป เช่น แชมพูยา Selenium sulfide

• ควรเลือกใช้ที่แชมพูยา Selenium sulfide ที่มีความเข้มข้น 2.5%

• กลไกออกฤทธิ์ที่เชื่อว่าช่วยเรื่องรังแค คือ ตัวยาสามารถยับยั้งเชื้อ Malassezia แบบ fungicidal, ทำให้มีการหลุดลอกของเชื้อออกจากเซลล์ผิว และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้

• ช่วยลดอาการคันหนังศีรษะร่วมด้วย

6. นอกจากแชมพูที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องสระผมให้ถูกวิธี

แชมพูเหล่านี้ต้องการเวลาในการออกฤทธิ์ ดังนั้น เขย่าขวดก่อน ผสมน้ำชโลมแชมพูที่โคนผมและหนังศีรษะ นวดเบา ๆ ให้เกิดฟอง ทิ้งไว้ 3-5 นาทีเพื่อให้เวลาในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบของต่อมไขมันที่หนังศีรษะ แล้วจึงล้างออก แต่ไม่แนะนำให้ใช้แชมพูชโลมที่หนังศีรษะโดยไม่ผสมน้ำเพราะอาจก่อการระคายเคืองได้ และแนะนำใช้ครีมนวดผมเพื่อเพิ่มความนุ่มของเส้นผม

7. ขั้นตอนสระผมสำคัญมาก

เพราะหลายคนใช้แชมพูที่ดีอยู่แล้ว แต่สระผมไม่ถูกวิธี ไม่สระที่โคนผม ไม่ปล่อยทิ้งไว้ 3-5 นาที ก่อนล้างออก ก็อาจจะไม่ทำให้รังแคดีขึ้นได้

8. คนที่มีรังแคควรสระผมด้วยแชมพูเหล่านี้ด้วยความถี่สม่ำเสมอ

อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากหนังศีรษะมันมากสามารถสระได้ทุกวัน เพราะหนังศีรษะแต่ละคนไม่เหมือนกัน และหากรังแคดีขึ้นแล้ว ก็แนะนำให้ใช้แชมพูต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันการเห่อกลับมาของรังแคในอนาคต

9. จุดนี้หากยังไม่ดีขึ้น แนะนำควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง

เพื่อประเมินว่าคุณเป็นรังแคจริงหรือไม่ หรือมีโรคหนังศีรษะอย่างอื่นที่ต้องทำการปรับเปลี่ยนการรักษาหรือเปล่า เพราะบางโรคก็อาจมีอาการคล้ายรังแคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ภาวะหนังศีรษะอักเสบอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อแพทย์อาจพิจารณาปรับการรักษาอื่นเพิ่มเติม

10. กรณี Tar shampoo มีข้อที่ต้องระวัง

❌ แชมพูมีสีน้ำตาล อาจทำให้ติดเส้นผม สีผมเปลี่ยนได้ จึงควรระวังในกรณีที่ผมสีบลอนด์ เทา หรือ ขาว

❌ ทำให้หนังศีรษะไวต่อแสง ควรใส่ปกป้องหนังศีรษะจากแสงแดดหากต้องออกกลางแจ้ง เช่น ใส่หมวก

Bottom Line

โดยสรุป เป็นรังแคไม่ดีขึ้นสักที ให้ลองสำรวจตัวเองดังนี้ค่ะ

ยังมีปัจจัยกระตุ้นให้รังแคเห่ออยู่หรือไม่

• แชมพูที่ใช้ .. เหมาะสมหรือไม่

ลองปรับแชมพู หากใช้แชมพูขจัดรังแคทั่วไปแล้วไม่ได้ผล อาจลองเปลี่ยนไปใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารตัวอื่น หรือกลุ่มแชมพูยา เช่น selenium sulfide ก็ทำให้ได้ผลดีขึ้นได้ 

• วิธีการสระผม .. ถูกต้องหรือยัง

• เป็นโรคของหนังศีรษะอื่น ๆ .. หรือไม่

หากไม่แน่ใจว่าเป็นรังแคจริงหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง เพื่อช่วยตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการ ขุยที่หนังศีรษะนั้นอาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งต้องใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่ประสบปัญหารังแคกวนใจอยู่นะคะ 

ถ้าชอบและเห็นว่าโพสนี้มีประโยชน์ ช่วยกันกดแชร์เยอะ ๆ นะคะ 

ด้วยความปรารถนาดี

หมอเจี๊ยบ

——————————————

References:

Experimental Dermatology. 2021;30:1546–1553.

Eur J Dermatol. 2017 Jun 1;27(S1):4-7.

Front Cell Infect Microbiol. 2016 Nov 17;6:157.

Selenium Sulfide Monograph for Professionals – Drugs.com

J Clin Investig Dermatol. 2015 December ; 3(2): .

Fitzpatrick 8th edition and Bolognia 4th edition, Textbook of dermatology

——————————————

รวมลิ้งค์ https://linktr.ee/drwarayuwadee

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Ketoconazole Shampoo

Ketoconazole Shampoo ใช้รักษาผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนได้จริงหรือ ?

เป็นอีกคำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบ
ก่อนเข้าประเด็นเรื่องรักษาผมบาง จะขอเล่าให้ฟังก่อนว่า Ketoconazole shampoo สามารถใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง

7 ข้อน่ารู้ของ Ketoconazole Shampoo

1. Ketoconazole ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราโดยการยับยั้งการสร้าง ergosterol ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผนังเซลล์ของตัวเชื้อราหรือยีสต์ เมื่อการสร้างผนังเซลล์ผิดปกติไป จึงส่งผลให้เชื้อไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มยาที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาภาวะติดเชื้อดังกล่าวเป็นหลัก

2. กรณีรังแคหรือหนังศีรษะอักเสบเซบเดิร์ม นอกจากเกิดจากปัจจัยเรื่องการอักเสบแล้ว ยังพบว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนเชื้อยีสต์ Malazzesia ที่บริเวณหนังศีรษะเพิ่มขึ้นกว่าคนทั่วไป

ดังนั้น จึงมีการนำ ketoconazole shampoo มาใช้ในการรักษาและป้องกันรังแคร่วมด้วย เพราะสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ และยังมีกลไกช่วยลดการอักเสบได้ดี

3. เมื่อเปรียบเทียบการรักษาภาวะรังแคหรือหนังศีรษะอักเสบเซบเดิร์มด้วย Ketoconazole shampoo, Selenium sulfide shampoo ทั้งสองตัวช่วยลดปริมาณยีสต์และลดอาการคันได้ดีกว่าแชมพูทั่วไป โดยพบว่า

• ประสิทธิภาพการลดเชื้อต่างกันเล็กน้อย : Ketoconazole shampoo > Selenium sulfide shampoo
• ประสิทธิภาพการขจัดขุยรังแค : Ketoconazole shampoo > Selenium sulfide shampoo
• ประสิทธิภาพป้องกันกลับเป็นซ้ำ : Ketoconazole shampoo > Zinc pyrithione
• ประสิทธิภาพการลดอาการคันไม่ต่างกันทั้งสามชนิด : Ketoconazole shampoo, Zinc pyrithione, Selenium sulfide
ดังนั้น สามารถพิจารณาเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม

4. กรณีเกลื้อน พบว่าเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นเชื้อ Pityrosporum ที่อยู่ตามรูขุมขนของเรา และกินไขมันเป็นอาหาร โดยมักทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขุยเป็นวงสีขาว, แดงหรือน้ำตาลขึ้นที่บริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น หน้าอก หลัง โดยเฉพาะเวลาที่เหงื่อออกเยอะ ผิวมัน หลังเล่นกีฬา หรืออยู่ที่ร้อนอบอ้าว

ดังนั้น Ketoconazole shampoo สามารถใช้ในภาวะนี้ได้เช่นกัน และนอกจากการรักษาเกลื้อนด้วยยากิน ยาทา แชมพูฟอกแล้ว ยังต้องรักษาสุขอนามัยร่วมด้วย อย่าปล่อยเหงื่อหมักหมม หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำให้สะอาด ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น

5. กรณีผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ก็มีบางงานวิจัยที่อธิบายไว้ว่า
• 2% ketoconazole shampoo ช่วยลดการอักเสบบริเวณหนังศีรษะ และลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายบริเวณรากผม #ทำให้การหลุดร่วงของเส้นผมน้อยลงและรากผมแข็งแรงมากขึ้น
• 2% ketoconazole shampoo (ในงานวิจัยใช้ Nizoral shampoo) พบว่าเส้นผมมีความหนาและมีขนาดใหญ่ขึ้น จากตัดชิ้นเนื้อมาดูหลังการใช้สระต่อเนื่องเกิน 1-2 ปีขึ้นไป

ดังนั้น จึงอาจเห็นมีการใช้แบบ Off-label use เป็นการรักษาเสริมในผู้ที่มีภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน เพิ่มเติมจากการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน และการเห็นผลอาจต้องใช้เวลา และต้องรอดูข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

6. กรณีหนังศีรษะมัน มีงานวิจัยพบว่า ketoconazole shampoo สามารถออกฤทธิ์ลดการสร้าง sebum ที่หนังศีรษะได้ โดยควบคุมความมันได้หลังการใช้ประมาณ 36 ชั่วโมงจากการวัดด้วยเครื่องมือทางการวิจัย

ดังนั้น อาจใช้สระทุก 2-3 วัน เพื่อช่วยลดความมันบนหนังศีรษะได้

7. ยังไม่มีการศึกษาความปลอดภัยในการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร, ควรระวังการใช้ในคนที่แพ้ยาที่เป็นส่วนประกอบ และระวังเข้าตาอาจระคายเคืองได้

Tips

เคล็ดลับการใช้ ketoconazole shampoo ในโรคต่าง ๆ โดยใช้เป็นตัวเสริม ร่วมกับการรักษาโรคเหล่านี้ด้วยวิธีมาตรฐาน

กรณีรังแคหรือหนังศีรษะอักเสบเซบเดิร์ม

▫️ใช้แชมพูประมาณ 5 ml ผสมน้ำและสระฟอกบริเวณที่เป็นทิ้งไว้ 3-5 นาที ให้ยาออกฤทธิ์และล้างออก
▫️ช่วงโรคกำเริบ ควรสระ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ และหากโรคสงบแล้วแนะนำใช้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อป้องกัน
▫️ถ้าหลังสระแล้วผมแห้งหรือไม่ชอบกลิ่น อาจใช้ครีมนวดผมเพิ่มเติมบริเวณปลายผมได้

กรณีรักษาเกลื้อน

▫️ ให้อาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ตามปกติ เมื่อเสร็จแล้วล้างสบู่แต่อย่าเพิ่งเช็ดน้ำที่ติดบนผิวหนังออก จากนั้นใช้แชมพูลูบไปทั่วบริเวณที่เป็น ทิ้งไว้ 3-5 นาที แล้วจึงอาบน้ำล้างแชมพูออก
▫️ การรักษาควรทำทุกวัน ร่วมกับกินยาทายารักษามาตรฐาน
▫️ ไม่ควรฟอกตัวทิ้งไว้นานเกินไป และผสมน้ำเจือจางเสมอป้องกันการระคายเคืองผิว

กรณีหนังศีรษะและผมมัน

▫️ใช้แชมพูประมาณ 5 ml ผสมน้ำและสระฟอกบริเวณที่เป็นทิ้งไว้ 3-5 นาที ให้ยาออกฤทธิ์และล้างออก
▫️ความถี่ของการใช้ 1-3 วันต่อครั้ง ขึ้นกับความมันของแต่ละคน

กรณีผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน

▫️ยังไม่มีแนวทางชัดเจน และการเห็นผลต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
▫️ข้อมูลจากงานวิจัย ใช้สระผม 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 1-2 ปี ขึ้นกับงานวิจัย

ในท้องตลาดมีแชมพูหลายยี่ห้อ อาจลองเลือกตามความพึงพอใจ แนะนำให้ความเข้มข้นประมาณ 2% และหากเป็นรูปแบบ micronized form ก็สามารถเพิ่มการดูดซึมและออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น เท่าที่ทราบก็จะเป็นตัว Nizoral shampoo ซึ่งเป็นตัวออริจินอลที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และช่วยให้ทุกคนรู้จัก ketoconazole shampoo มากขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองได้ดีขึ้น และหากไม่แน่ใจว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นสามารถใช้แชมพูตัวนี้ได้หรือไม่ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางร่วมประเมิน

ใครเคยใช้บ้างมั้ยคะ

Reference
Int J of Woman’s Dermatol. 2018; 4: 203-211.
J Mycol Med. 2018; 28(4): 590–593.
Int. J. Cosmetic Science 1997; 19: 1-7.
Journal of Dermatological Treatment 1990; 1: 4, 177-179.
Dermatology. 198; 196(4): 474-7.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Oral minoxidil ช่วยเรื่องผมบาง แต่บางคนอาจเกิดขนดกที่อื่นตามมา

รูปนี้น่าสนใจ นำมาจาก Journal of American Academy of Dermatology เลยอยากมาเล่าให้ฟังสั้น ๆ ค่ะ

Oral minoxidil เป็นยาที่ FDA-approved ในรักษา ภาวะความดันโลหิตสูง โดยขนาดยาที่ใช้คือ 10-40 มก/วัน และค่อย ๆ ปรับขึ้นได้ถึง 100 มก/วัน นอกจากนั้น ยังมีการนำมาใช้แบบ off-label ในการรักษาภาวะผมบางและปัญหาทางเส้นผมอื่น แต่กรณีนี้จะใช้ขนาดยาที่ต่ำลงมา คือ 0.25-5 มก/วัน เรียกว่า Low-dose oral minoxidil (LDOM)

มีการศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์ใน JAAD โดยทำการศึกษาในผู้ป่วย 105 คน ที่ใช้ LDOM ตั้งแต่ Jan 2019-June 2020 เพื่อรักษาภาวะผมบาง พบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

• พบว่า ส่วนใหญ่ 90% เริ่มมีขนขึ้นมากกว่าปกติ หลังทาน LDOM ไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน แต่บางคนอาจยาวนานได้ถึง 6 เดือนค่อยมีขนดกก็เป็นได้เช่นกัน

• พบว่า ยิ่งทาน dose สูงขึ้น ขนดกยิ่งเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

บริเวณที่มักมีขนขึ้นเยอะ ได้แก่
มากที่สุด ได้แก่ ขมับ และ ข้างแก้ม (70-80%)
รองลงมา คือ ต้นแขน, หนวด และเครา (30-50%)
พบไม่มาก คือ หน้าผาก, หว่างคิ้ว และแก้ม (5-20%)
ดังรูป

ส่วนใหญ่ขนขึ้นเยอะจากการทานยา minoxidil มักไม่ค่อยรุนแรง บางครั้งผู้ป่วยบางคนแทบไม่ได้กังวลใจด้วยซ้ำ

ในขณะบางคนก็อาจกังวล และได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เลเซอร์กำจัดขน แว๊กซ์ โกน ครีมกำจัดขน ถอนขน ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามอะไร แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นการกำจัดขนเพียงชั่วคราว เพราะหากยังทานยาต่อก็อาจมีขนขึ้นมาใหม่ได้อีก

บางเคสลดขนาดยา minoxidil ก็ช่วยให้ภาวะขนดกนี้ดีขึ้นได้เช่นกัน แต่ก็มีส่วนน้อยที่ต้องหยุดทานยา (4%)

ดังนั้น ถ้าหากใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังและเส้นผม เพื่อให้คำแนะนำการรักษาขนที่ขึ้นเยอะจนอาจทำให้รำคาญใจ โดยที่อาจจะยังไม่จำเป็นต้องหยุดทานยาก็ได้ค่ะ

Reference:
Characterization and management of hypertrichosis induced by low-dose oral minoxidil in the treatment of hair loss.
https://www.jaad.org/article/S0190-9622(20)32594-9/fulltext

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ผมหงอกอย่าดึง..ให้เล็มหรือย้อมแทน ‼️

การถอนผมหงอก

อาจจะทำให้มีการทำให้โครงสร้างเซลล์ต่าง ๆ บริเวณรากผม เกิดการอักเสบและถูกทำลายมากขึ้น แนะนำให้เล็มหรือย้อมแทน และแก้ไขที่สาเหตุ

ถ้ามีสาเหตุที่แก้ไขได้ ผมก็อาจจะกลับมามีสีได้อีก

🛑 คนปกติถ้าเป็นชาวเอเชีย ผมจะเริ่มหงอกตอนอายุ 30-40 ปี แบบนี้เราเรียกว่า ผมหงอกตามวัย ซึ่งมักไม่สามารถทำให้กลับมาดำได้อีก การรักษาที่ทำได้คือ ย้อมสีผมเพื่อปกปิดเท่านั้น

🛑 ปัจจุบัน เริ่มมีงานวิจัยถึงผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้สีผมกลับมาได้ ต้องรอติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

🛑 ผมหงอกก่อนวัย ส่วนมากจะเริ่มหงอกก่อนอายุ 30 ปี อาจต้องมองหาร่วมด้วยว่ามีสาเหตุหรือปัจจัยอะไรที่สามารถแก้ไขได้หรือไม่ เช่น
✔️ โรคทางเส้นผม เช่น โรคผมร่วง Alopecia areata, โรคด่างขาว
✔️ โรคที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะซีด หรือการเจ็บป่วยรุนแรงอื่น ๆ
✔️ ภาวะขาดวิตามินบางอย่าง เช่น วิตามิน B12, biotin, copper, zinc, selenium
✔️ ยาบางชนิด
✔️ รังสี UVA และ UVB
✔️ การสูบบุหรี่
✔️ ความเครียด
เป็นต้น

🛑 แต่หากเป็นจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือ โรคพันธุกรรมบางอย่างที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดสี ก็อาจไม่สามารถแก้ไขให้ผมกลับมาดำได้

🛑 ผมหงอกไม่ใช่โรคอันตรายแต่อาจทำให้เกิดผลทางด้านจิตใจ ใครคิดว่าตัวเองมีปัญหาผมหงอกก่อนวัย แนะนำให้ลองเช็คว่ามีปัจจัยเหล่านี้หรือไม่ เพราะบางอย่างถ้าหากรักษาแล้ว ก็อาจทำให้ผมกลับมาดำได้เหมือนเดิม

🛑 การถอนผมเส้นที่หงอก ไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้ผมหงอกลุกลามเพิ่มในบริเวณอื่นมากขึ้น อย่างที่หลายคนเข้าใจ บางคนรู้สึกแบบนั้นอาจเป็นเพราะเป็นช่วงที่มีผมหงอกเกิดขึ้นมาบริเวณอื่นในช่วงนั้นก็เป็นได้

🛑 ดังนั้น หากมีผมหงอก อย่าเพิ่งใจร้อนรีบดึงหรือถอน เพราะอาจทำให้มีการทำลายหรือเกิดการอักเสบของโครงสร้างบริเวณรากผมและบริเวณรอบ ส่งผลให้มีการสร้างผมใหม่ที่ไม่สมบูรณ์หรืออาจผมคุดเกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา และบางทีอาจไม่เกิดการงอกใหม่ในบริเวณนั้นก็เป็นได้ ส่งผลให้ผมบางลงตามมาได้อีก

🛑 การกินวิตามินเสริมโดยที่ยังไม่มีภาวะขาดวิตามินหรือสารอาหารต่าง ๆ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าช่วยได้หรือไม่

🛑 การรักษาเมื่อสงสัยว่ามีผมหงอกก่อนวัย
▫️ไม่สูบบุหรี่ ทานอาหารถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงความเครียด
▫️ปกป้องผมจากรังสียูวี
▫️แก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ
▫️ไม่ถอนหรือดึง อาจใช้วิธีเล็มหรือย้อมแทน

Reference
J Cosmet Dermatol. 2019; 00: 1-9.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

10 ไอเทมผลิตภัณฑ์สำหรับคนผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน

[ Topical treatment for Patterned Hair loss ]

เช็คลิสต์10อย่าง‼️

มาต่อเรื่องผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ตอนที่ 2 กันค่ะ
ใครเพิ่งเจอบทความนี้ อยากให้กลับไปอ่านตอนที่ 1 ก่อนหน้านี้

คราวนี้มาพูดถึงยาทาในการรักษาภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนกันบ้าง ขอพูดถึงตัว minoxidil เยอะหน่อยเพราะเป็นยาทาตัวเดียวที่ FDA-approved ในตอนนี้ค่ะ ส่วนข้อ 2-10 ก็มีรายงานมากขึ้นว่าใช้ได้ผล

มาเริ่มเลยค่ะ
🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰

1️⃣⭐️ Topical minoxidil

✔️เป็นยาทาตัวเดียวที่ FDA-approved
▫️สำหรับผู้ชาย คือ 2% และ 5% (5% ผลดีกว่า 2%)
▫️ส่วนผู้หญิง คือ 2% (ความเข้มข้นมากกว่านี้ได้ผลไม่แตกต่าง และอาจมีผลข้างเคียงมากขึ้น)
▫️แบบ 5% foam งานวิจัยรับรองได้ผลทั้งหญิง (ทาวันละครั้ง) และชาย (ทาเช้าเย็น)
🔴 ดังนั้น ควรเลือกความเข้มข้นให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และผลข้างเคียงน้อยที่สุด และไม่เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหรือราคาที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
✔️ปริมาณที่ใช้ต่อครั้ง : 1 ml (solution), ครึ่งฝา (foam)
🔴 ดังนั้น การใช้มากเกินไป อาจไม่ช่วยให้ผลการตอบสนองดีขึ้นไปมากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่ตามมา
✔️ เริ่มเห็นผล 4-6 เดือน หากหยุดทาจะทำให้ผมเริ่มกลับมาบางลงใหม่ใน 4-6 เดือน
🔴 ดังนั้น ควรทาอย่างต่อเนื่องไปตลอดถ้าหากไม่มีข้อห้ามหรือผลข้างเคียงอะไร
✔️ ช่วงเริ่มใช้ 4-6 สัปดาห์แรก อาจมีการผลัดผมให้ร่วงมากขึ้นได้ และต่อไปจะค่อย ๆ มีผมขึ้นมาใหม่
🔴 ดังนั้น จึงไม่ต้องตกใจและไม่จำเป็นต้องหยุดทายา
✔️ ผลข้างเคียง :
❌ อาการแพ้จาก minoxidil
❌ การระคายเคืองจากสาร propylene glycol
❌ ขนขึ้นเยอะตามใบหน้า หรือบริเวณที่สัมผัส
🔴 ดังนั้น หากมีผื่นคัน หน้าบวมหรืออาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาว่าเป็นการระคายเคืองจากสาร PG หรือเป็นการแพ้ minoxidil
🔴 กรณีระคายเคือง PG อาจเปลี่ยนสูตรที่ไม่มี PG หรืออาจใช้เป็นรูปแบบ foam alcohol-based
🔴 กรณีเปลี่ยนสูตรแล้วไม่ดีขึ้น อาจเป็นจากการแพ้ minoxidil แนะนำหยุดใช้
✔️ ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์
✔️ อาจมีบางผลิตภัณฑ์ที่ผสมกับ tretinoin solution, finasteride, amenexil ก็ใช้ได้

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

💰 Minodil
💰 Nuhair
💰 Regaine
💰 Reten Five

2️⃣⭐️ Topical finasteride
เป็น 5-alpha reductase inhibitors
✔️ แนะนำ 0.05% gel หรือ 0.1% lotion
✔️ ใช้คู่กับ topical minoxidil ได้ผลดีขึ้น

3️⃣⭐️ Topical antiandrogen
ที่มีบางรายงานว่าได้ผลในผู้ชาย แต่ไม่ค่อยได้ผลในผู้หญิง เช่น
✔️ Fluridil 2% solution ทาเช้าเย็น
✔️ Alfatraiol 0.025% lotion ทาเช้าเย็น

4️⃣⭐️ Topical prostglandin analogs
มีรายงานได้ผลในผู้ชายที่ผมบางไม่รุนแรงนัก
✔️ Latanoprost 0.1% วันละครั้ง

5️⃣⭐️ Topical ketoconazole shampoo
ใช้ร่วมกับ oral finasteride ก็ช่วยได้ดี
ใช้ 2-4 ครั้ง/สัปดาห์

6️⃣⭐️ Topical melatonin 0.1% ทาวันละครั้ง

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

💰NutraM

7️⃣⭐️ Topical adenosine 0.75% ทาเช้าเย็น

8️⃣⭐️ Topical Saw palmetto (Serenoa repens) lotion ทาเช้าเย็น

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

💰Biothymus-M

9️⃣⭐️ Topical Cellium
ประกอบด้วยสารสกัดจาก Allium species, Citrus species

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

💰CG210
💰CG428

🔟⭐️ Topical Capixyl
ประกอบด้วย Acetyl tetrapeptide-3, Biochanin A

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

💰 Hirsuit

อ่านจบกันมั้ย และอย่าลืมว่า..การตอบสนองต่อการใช้ยาแต่ละชนิดในแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้อาจ เป็นทางเลือกเสริมให้ลองพิจารณาเลือกให้เหมาะกับตัวเองค่ะ
และหากไม่แน่ใจว่าคุณผมร่วงหรือผมบางจากภาวะนี้หรือไม่ แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ก่อนเริ่มทำการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่แนะนำให้ลองผิดลองถูกเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงตามมา

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
No Sponsored Content
Product Mentioned: #minoxidil #finasteride #CG210 #CG428 #Hirsuit #BiothymusM #Nuhair #Regaine #RetenFive

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References
Int J of Women’s Dermato. 2018; 4(4): 203-211.
Am J Clin Dermatol. 2014; 15: 217-230.
Int J Trichology. 2012; 4(4): 236-247.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

10 ข้อสรุป ผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ‼️

10 ข้อควรรู้ เรื่องผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ‼️

👴🏻👴🏻👴🏻👴🏻👴🏻👴🏻👴🏻👴🏻👴🏻

1️⃣⭐️ ในเพศชาย เรียก Male Androgenetic Alopecia หรือ Male Patterned Hair Loss (MPHL) ในเพศหญิง เรียก Female Androgenetic Alopecia หรือ Female Patterned Hair Loss (FPHL)

ที่เรียกชื่อแบบนี้เพราะลักษณะของผมที่บาง จะมีแพทเทิร์นที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ พันธุกรรม และ/หรือ ฮอร์โมน
👴🏻ดังนั้น บางคนอาจไม่มีพันธุกรรมร่วมด้วยก็ได้

2️⃣⭐️ ปัจจัยเรื่องฮอร์โมนแอนโดรเจนจะทำให้เส้นผมบางบริเวณมีขนาดเล็กลง โดย เพศหญิงมักเริ่มบางจากกลางศีรษะก่อน และ เพศชายมักเริ่มเถิกจากหน้าผากบริเวณขมับสองข้าง ขึ้นไปเป็นรูปตัว M ต่อมาจะเริ่มบางบริเวณกลางศีรษะ และหากเป็นเยอะก็จะลามออกมารวมกับด้านหน้า ดังรูป แต่ในเพศหญิงบางคนอาจบางรูปแบบของเพศชายได้
👴🏻ดังนั้น บริเวณที่ตอบสนองต่อการทายา คือบริเวณดังกล่าวนั่นเอง ส่วนบริเวณอื่นที่ไม่ได้มีอิทธิพลจากฮอร์โมนอาจต้องรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ปลูกผม

3️⃣⭐️ กรณีฝาแฝด หากคนหนึ่งผมบาง พบว่าส่วนมากอีกคนมักเกิดขึ้นเช่นกัน เพราะส่วนหนึ่งเกิดจาก ปัจจัยเรื่องพันธุกรรมร่วมด้วย
👴🏻ดังนั้น คู่แฝดส่วนใหญ่มัก หัวล้าน/ไม่ล้าน เหมือนกันทั้งคู่ แต่ก็ไม่เสมอไป 100%

4️⃣⭐️ คนหัวล้านหรือผมบาง ควรต้องระวังเรื่องการป้องกันแสงแดดให้ดี เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งผิวหนังที่บริเวณหนังศีรษะเพิ่มขึ้นได้
👴🏻ดังนั้น แนะนำให้ใส่หมวก กางร่ม เวลาออกกลางแดด และหากมีตุ่มหรือแผลผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อประเมิน

5️⃣⭐️ ในเพศหญิงอายุน้อยที่ผมบางเร็ว อาจมี ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิด FPHL ได้ เช่น ภาวะขาดธาตุเหล็ก ขาดวิตามินบางชนิด เป็นต้น
👴🏻ดังนั้น กลุ่มนี้แนะนำให้พบแพทย์เพื่อ ตรวจเลือดหาสาเหตุร่วมด้วยเสมอ ก่อนด่วนสรุปว่าเป็นจากฮอร์โมนหรือพันธุกรรมเพียงเท่านั้น เพราะคนไข้อาจเสียโอกาสในการรักษาด้วยวิธีอื่นที่ตรงสาเหตุร่วมด้วย

6️⃣⭐️ มีงานวิจัยพบว่าคนผมบางหัวล้านมีความกังวลและเครียดมากขึ้น บางรายมากจนถึงขึ้นเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะเพศหญิงจะมากกว่าเพศชาย ซึ่งพบว่า คนไม่ประสบปัญหานี้อาจไม่เข้าใจ
👴🏻ดังนั้น แนะนำว่าหากเป็นไปได้ไม่ควรล้อเลียนผู้อื่นเรื่องนี้ เพราะอาจเป็นปัจจัยทำให้สภาวะทางจิตใจแย่ไปกว่าเดิม

7️⃣⭐️ เพศชายที่ผมบางตั้งแต่ Grade 3 ขึ้นไป ก่อนอายุ 30 ปี (โดยเฉพาะคนที่ผมบางกลางศีรษะ > เถิกที่หน้าผาก) พบมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น
👴🏻ดังนั้น ควรหมั่นดูแลสุขภาพให้ดี ดูแลเรื่องอาหารการกิน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

8️⃣⭐️ ภาวะนี้ไม่เร่งด่วน การรักษาขึ้นกับความต้องการและความพึงพอใจของแต่ละคน และการรักษาในแต่ละวิธีต้องอาศัยความต่อเนื่องไปตลอด ไม่ว่าจะกินหรือทายา หรือแม้กระทั่งปลูกผมแล้วก็ยังต้องกินยาและทายาต่อไป เพราะหากหยุดการรักษาก็อาจทำให้ ผมกลับมาบางได้อีก
👴🏻ดังนั้น ควรตัดสินใจก่อนเริ่มการรักษาให้ดีก่อนเริ่มต้นการรักษาไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม และการตอบสนองต่อการรักษาของแต่ละคนต่อการรักษาแต่ละวิธีก็ไม่เหมือนกัน เนื่องจากขึ้นกับหลายปัจจัย และหากไม่แน่ใจก็ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินก่อนว่าเป็นภาวะนี้จริงหรือไม่ ก่อนเริ่มทำการรักษา

9️⃣⭐️ การรักษามีหลายวิธี

✔️ ใส่วิก

✔️ ยาทา ได้แก่
▫️ Topical minoxidil (FDA approved)
3-5% minoxidil ในเพศชาย
2% minoxidil ในเพศหญิง
**ระยะเวลาเริ่มเห็นผลชัดเจน คือ 6-12 เดือน
**หลังเริ่มใช้อาจมีผมร่วงมากขึ้นใน 2-8 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นต่อไปผมจึงจะเริ่มขึ้น
**หากหยุดทายา ผมจะเริ่มกลับมาร่วงใน 4-6 เดือน
**ผลข้างเคียง แพ้ระคายเคือง
▫️Topical finasteride 0.1%
▫️Topical anti-androgen เช่น fluridil, alfatradiol 0.025%
▫️Latanoprost, ketaconazole shampoo

✔️ ยารับประทาน ได้แก่
▫️Finasteride 1-5 มก ต่อวัน (เพศชาย), 2.5-5 มก ต่อวัน (หญิงวัยหมดประจำเดือน) (FDA-approved)
**อาจทำให้ระดับ serum PSA ลดลงได้ประมาณ 50% แนะนำให้ตรวจระดับ serum PSA ก่อนให้ยา เพื่อป้องกัน false negative กรณีมะเร็งต่อลูกหมาก
▫️Dutasteride 0.5-2.5 มก ต่อวัน
**ประสิทธิภาพดีกว่า แต่ half life นานกว่า finasteride จึงควรหยุดยาอย่างน้อย 6 เดือนก่อนบริจาคเลือด
**ผลข้างเคียง พบใน dutasteride มากกว่า finasteride ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง (1.9%), อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (1.4%) ซึ่งพบไม่บ่อย และดีขึ้นกลับเป็นปกติเมื่อหยุดยา
▫️ Minoxidil 5 มก ต่อวัน
▫️กรณีเพศหญิง ยาที่อาจใช้ได้ คือ Oral anti-androgens ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช้ในเพศชาย ได้แก่ Spironolactone, Cyproterone acetate

✔️ Platelet rich plasma (PRP)

✔️ Low Level Laser Therapy (LLLT)

✔️ การปลูกผม (Hair transplantation)
แนะนำเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้ว 1-2 ปี และยังไม่ได้ผลที่พึงพอใจ

✔️ การสักอณูสี (Scalp micropigmentation)
มักทำในคนที่ผมบางระยะท้าย ๆ ที่กว้างเกินไปสำหรับการปลูกผม

🔟 แชมพูหรือสเปรย์ที่มี Evidence-based —> ถ้ามีคนอยากรู้จะมาต่อรีวิวตอนที่ 2

References
Cranwell W, Sinclair R. Male Androgenetic Alopecia. [Updated 2016 Feb 29]. Endotext
J Eur Acad Dermtol Venereol. 2018; 32(12): 2112-2125.
J Dtsch Dermatol Ges. 2007; 5: 391-5.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

โรคเซบเดิร์มหรือโรครังแคบนหนังศีรษะ รักษาอย่างไรให้ถูกวิธี ‼️

Seborrheic dermatitis or Dandruff

ไม่มีวันไหนที่เดินออกจากบ้านแล้วไม่เจอคนเป็นโรคนี้แน่นอนค่ะ มาทำความรู้จักกัน

โรคเซบเดิร์มเกิดจากอะไร

👩🏻‍⚕️: ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบชนิดนี้ ได้แก่
📌 ผิวมัน จึงเห็นได้ว่า มักเกิดผื่นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น ร่องแก้ม หัวคิ้ว หนังศีรษะ อก หลัง เป็นต้น
📌 เชื้อรา Malassezia ซึ่งชอบไขมัน
📌 สภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศเย็น ความชื้นต่ำ ผิวแห้ง จะทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น
📌 ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้มีอาการกำเริบของผื่นได้
📌 การดื่มสุรา
📌 การเสียดสี แกะเกาผิวหนัง เป็นการกระตุ้นอีกทางที่ทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น
📌 ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ที่มี Mutation of ZNF750

ใครมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้บ้าง

👩🏻‍⚕️: ผู้ที่ผิวมัน, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี (CD4 200-500 cell/mm3), ผู้ป่วยระบบประสาท เช่น อัมพฤกษ์อัมพาต พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ลมชัก
***ดังนั้นควรนึกถึงและตรวจหาภาวะเอชไอวีร่วมด้วยเสมอถ้าหากมีลักษณะของเซบเดิร์มที่น่าสงสัย คือ
🔥 อาการรุนแรง ผื่นลามบริเวณกว้าง (Severe, extensive disease)
🔥 ไม่ตอบสนองการรักษา (Refractory disease)


มีภาวะขาดวิตามินอะไรบ้างที่แสดงอาการเช่นนี้ได้

👩🏻‍⚕️: B2, B6, Zinc deficiency


โรคนี้หายขาดหรือไม่และรักษาอย่างไร

👩🏻‍⚕️: โรคเซบเดิร์มเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาให้ภาวะกำเริบหายเร็วขึ้น ส่วนมากใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ต่อการรักษาในแต่ละครั้งของการกำเริบ

🌈 ยาในกลุ่มยาทา
☘️ ยาทากลุ่มสเตอรอยด์
☘️ ยาทาฆ่าเชื้อรา 2% Ketoconazole cream
☘️ ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor เช่น Tacrolimus, Pimecrolimus
☘️ แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของ Selenium sulfide, Ketoconazole, Zinc, Tar เพื่อลดอาการรังแคที่หนังศีรษะ
☘️ กรณีผื่นที่ลำตัว อาจใช้แชมพูดังกล่าว ผสมน้ำฟอกทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกตามด้วยการอาบน้ำปกติ

🌈 ยาในกลุ่มรับประทาน (กรณีโรครุนแรง ดื้อต่อการรักษา ควรได้รับการรักษาควบคุมโดยแพทย์)
☘️ ยากินฆ่าเชื้อรา Itraconazole 200 mg/day นาน 1 สัปดาห์
☘️ ยากินกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ Isotretinoin 10 mg AD นาน 3-4 เดือน ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย

🌈 การฉายแสง Narrow Band UVB สัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนหาย

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเซบเดิร์ม

👩🏻‍⚕️: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าเป็นโรคที่ไม่หายขาด การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นเป็นการป้องกันการกำเริบของโรคที่ดีที่สุดค่ะ และหากมีการกำเริบ ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี

สุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมักถามเสมอถึงการใช้ครีมต่างๆในช่วงที่มีอาการกำเริบ ดังนี้นะคะ

🎭 ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด และทาครีมบำรุงเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันผิวแห้ง
🎭 เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ แอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ผื่นกำเริบ เช่น After shave, Toner, Hair spray
🎭 หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนค่ะ


References

• Fitzpatrick 8th edition
• Bolognia 4th edition
• ภาพถ่ายได้รับการขออนุญาตจากผู้ป่วยเพื่อการเรียนรู้ ห้ามมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเพจค่ะ

บทความลิขสิทธิ์ © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง