Category Archives: Acne

Acne-prone Skincare, According to Dermatologist

คนเป็นสิวใช้อะไรดี..แนะนำแบบนี้ค่ะ ‼️

  1. ไอเทมที่ควรมีคู่กับการรักษาด้วยยาสิว คือ ผลิตภัณฑ์กันแดด, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเช้า-ก่อนนอน, ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า
  2. เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับ acne-prone skin ได้แก่ non-comedogenic, oil free
  3. เลือกให้เหมาะกับผิว เช่น
    ถ้าเป็นสิว+ผิวมันควรเน้นกลุ่มที่ควบคุมความมัน
    ถ้าเป็นสิว+ผิวแห้งหรือแพ้ง่าย ควรเน้นกลุ่มเสริมกำแพงผิว ลดการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้นเป็นพิเศษ
  4. คนผิวมัน เน้นผลิตภัณฑ์เนื้อบางเบา เช่น เจล โลชั่น หรือ ครีมที่ซึมเร็ว ส่วนคนผิวแห้ง เน้นผลิตภัณฑ์เนื้อครีมจะช่วยบำรุงได้ดีกว่า
  5. คนผิวแห้ง ระคายเคืองง่าย พยายามเลี่ยงน้ำหอม แอลกอฮอล์ สารกันเสีย เพราะอาจระคายเคืองได้
  6. ประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดขึ้นกับสภาพผิวแต่ละคน อย่าใช้ตามเพื่อนหรือคำโฆษณา ควรต้องเลือกที่เหมาะกับตัวเอง
  7. ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติทับซ้อนกัน เพราะไม่เพียงแต่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นแล้วยังอาจมีผลข้างเคียงตามมาได้
  8. ในรูปเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นให้ทุกคนลองไปศึกษากันดูค่ะ
  9. สุดท้าย ย้ำเสมอหากเป็นสิวเรื้อรังรุนแรงไม่หายสักที แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังร่วมประเมินค่ะ

ถ้าชอบ Protocol สกินแคร์สิว Acne-prone Skncare อันนี้ สามารถกดไลค์กดแชร์ได้เลยค่า ♥️

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

7 สูตรลับ..ปรับสมดุลผิวที่เป็นสิวเรื้อรัง ‼️

วันนี้มีเคล็ดลับดี ๆ สำหรับใครที่เป็นสิวบ่อย ๆ สิวเรื้อรังไม่หายสักที ลองมาอ่านกันค่ะ ..

นอกจากการรักษาสิวด้วยยาตามแนวทางมาตรฐานแล้ว การดูแลผิวอย่างถูกวิธีจึงต้องควบคู่กันไปด้วยเสมอ ทั้งนี้เพื่อคงความสมดุลผิวและลดการเกิดภาวะ Microbiome Dysbiosis ที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิด สิวเรื้อรังไม่หายสักที ลองนำเคล็ดลับนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ

References:

Dermatol Ther (Heidelb) 2021; 11: 71-77.
Am J Clin Derm 2020; 21(Suppl 1): S18-S24.
Microorganisms 2020; 8: 1752. O’Neill and Gallo Microbiome 2018; 6: 177.

Collab:

HELLO SKIN by หมอผิวหนัง ✖️ SkinX พบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ✖️ SAVV SKIN

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Acne-friendly Moisturizer สกินแคร์สำหรับคนเป็นสิว

สิว..นอกจากการรักษาโดยการใช้ยากินและยาทาที่สั่งโดยแพทย์แล้วนั้น เดอโมคอสเมติกสำหรับผิวที่เป็นสิวก็สำคัญไม่แพ้กัน

สกินแคร์สำหรับคนเป็นสิวควรเลือกให้เหมาะ และเป็นสิ่งที่ควรมีควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาเพราะจะช่วยเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

โดยปกติแล้วสกินแคร์สำหรับคนเป็นสิวแนะนำเลือกคุณสมบัติ 5 ข้อ ล้อไปตามกลไกของการเกิดสิว ดังนี้

1. ชนิดมอยซ์เจอไรเซอร์สำหรับผิวที่เป็นสิว แนะนำ water‐based, nongreasy เนื้อสัมผัสไม่เหนียว ควรใช้ทุกวันเป็นประจำและควรใช้คู่กับ ครีมกันแดดและคลีนเซอร์สำหรับสูตรสิว จะช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น

ส่วนประกอบพื้นฐานที่แนะนำ ได้แก่


✔️ Dimethicone และ glycerin เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการสูญเสียน้ำจากผิว
✔️ Hyaluronic acid หรือ sodium pyrrolidone carboxylic acid เพื่อช่วยบำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น

2. ผลิตภัณฑ์ควบคุมความมัน (Sebum-controlling agents)
กลุ่มนี้ถ้าหากใครหน้าไม่มัน สามารถข้ามไปได้เลย

ส่วนประกอบที่ช่วยเรื่องความมัน ได้แก่

✔️ Niacinamide
✔️ Bakuchiol
✔️ Zinc
✔️ Fullerene
✔️ L-carnitine
โดยจะเริ่มเห็นผลประมาณ 4 สัปดาห์ อาจต้องใช้เวลาและต้องมีความสม่ำเสมอใจเย็น

3. ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวลดการอุดตันของรูขุมขน (Keratolytic agents)
กลุ่มนี้จะช่วยให้ยารักษาสิวออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ผิวดูขาวใสขึ้น และ ยังช่วยลดรอยดำจากสิวได้อีก กลุ่มนี้อาจไม่ต้องทาทุกวันก็ได้ ขึ้นกับสภาพผิวและการระคายเคืองซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละคน และจะเริ่มเห็นผลประมาณ 4 สัปดาห์

ส่วนประกอบที่ช่วยลดการอุดตัน ได้แก่

✔️ Retinol derivatives
✔️ Alpha‐hydroxy acids เช่น glycolic acid
✔️ Beta‐hydroxy acids เช่น salicylic acid
✔️ Polyhydroxy acids เช่น lactobionic acid and gluconolactone
✔️ Linoleic acid

4. ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการอักเสบ (Anti-inflammatory agents)
กลุ่มนี้นอกจากจะช่วยเรื่องลดการอักเสบของสิวแล้ว ยังลดการเกิดรอยแดงและรอยดำที่มักเกิดตามหลังการอักเสบของสิวได้อีก

ส่วนประกอบที่ช่วยลดการอักเสบ ได้แก่

✔️ Azelaic acid
✔️ Licochalcone-A
✔️ Hazel และ Aloe vera
✔️ Zinc
✔️ Soy isoflavones
✔️ Salix alba (active extract of willow bark)
✔️ Gingo biloba extracts
✔️ Epiderma Growth Factors
✔️ Enoxolone (extract from licorice root)
✔️ Penthanol
✔️ Probiotic : Lactobacillus-fermented Chamaecyparis obtusa, Lactobacillus plantarum
อื่น ๆ ที่ช่วยได้ Bakuchiol, Nicotinamide, Decanediol

5. ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยับยั้ง C.acne
(Anti-microbial agents)

กลุ่มนี้จะช่วยลดการเกิดเชื้อดื้อยาได้ดีกว่าการใช้ยาฆ่าเชื้อแต้มสิวเดี่ยว ๆ

ส่วนประกอบที่ช่วยฆ่าเชื้อ ได้แก่

✔️ Decanediol เริ่มเห็นผลประมาณ 8 สัปดาห์
✔️ Tea tree oil 5% เทียบเท่า BPO แต่เห็นผลช้ากว่า
อื่น ๆ ที่ช่วยได้ Bakuchiol, Lactobacillus plantarum

หากใครเป็นสิวอุดตัน สิวอักเสบ ผิวมัน ที่กำลังหาสกินแคร์สักชิ้น ลองมองหาส่วนผสมที่กล่าวไปข้างต้นเพื่อเสริมการรักษาไปกับการทายาได้ค่ะ
ทั้งนี้การรักษาและการตอบสนองต่อการรักษาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องค่อย ๆ ลองปรับที่เหมาะกับตัวเอง และหากเป็นสิวเรื้อรังรุนแรงแนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังร่วมดูแล


References:


JEADV 2015; 29(Suppl. 5): 1-7.
Nat Rev Dis Primers. 2015; 1: 15029.
J Clin Aesthet Dermatol. 2013; 6: 18-24.
J Cosmet Dermatol. 2012 Mar; 11(1): 30-6.
Clin Cosmet Investig Dermatol. 2010; 3: 135–142.
International journal of pharmaceutics 292.1-2 (2005): 187-194.


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

สิว Story รวมกลวิธีปราบสิวให้อยู่หมัด

ทั้งหมดอยู่ในไลฟ์นี้ค่ะ

• สาเหตุของสิว ปัจจัยก่อสิว

• สิวฮอร์โมนเป็นอย่างไร รักษาอย่างไร

• ยาทาสิว ยากินรักษาสิวมีอะไรบ้าง

• อาหารเสริม โปรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ ช่วยไหม

• แนะนำการเลือกสกินแคร์สำหรับคนเป็นสิว

และอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับสิว

สามารถดูย้อนหลังได้ในลิ้งค์นี้เลยค่ะ https://fb.watch/6fjeCp5GjY/

สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณอาจารย์พลัง คุณตั้มและทีม SkinX ผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่าน ที่ชวนหมอไปพูดคุยครั้งนี้ และ คุณหมอเก่ง DrKengw ที่มาช่วยกันแชร์เรื่องสิวปังๆ สนุกมากเลยค่ะ 🙂

Picture Cr. FB Live สิว Story

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ..ยากินวิตามินเอรักษาสิว

Update in Oral Isotretinoin for acne treatment

1. เป็นยาอันตรายที่มีการควบคุมการใช้โดยแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อกินเองโดยไม่มีข้อบ่งชี้ และระวังยาปลอมลอกเลียนแบบ

2. แคปซูลของยามีส่วนผสมที่ทำจากพาราเบน : ห้ามใช้ในคนที่แพ้พาราเบน
กลุ่มคนเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงสารพาราเบนที่มักผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว

3. ข้อบ่งชี้ : ไม่แนะนำให้ซื้อกินเองหากไม่มีข้อบ่งชี้
▫️สิวหนองรุนแรง (Severe nodulocystic / papulopustular acne)
▫️ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น (Minimal response to previous treatment)
▫️กรณีอื่น ๆ อาจพิจารณาโดยแพทย์เป็นรายไป ได้แก่ Significant psychological concern, prone to scarring, limited use of antibiotics

4. ขนาดที่ใช้
▫️Standard dose (กรณีสิวรุนแรงมาก): International guideline แนะนำเริ่มที่ 0.1-0.2 mg/kg/day เพิ่มจนถึง standard dose 0.5 mg/kg/day หากไม่มีข้อห้ามและผู้ป่วยสามารถทนผลข้างเคียงได้
▫️Low dose (กรณีสิวรุนแรงปานกลาง): 0.2-0.3 mg/kg/day กินอย่างน้อย 6-12 months หรือจนสิวสงบอย่างน้อย 2 เดือน

Dose อื่นยังไม่มีรายงานว่าได้ผล และการหยุดยาเร็วเกินไปจะทำให้สิวกลับเป็นซ้ำ แนะนำให้ทานหลังอาหารทันทีเพื่อเพิ่มการดูดซึมยา

5. ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายจากยา

ควรซักประวัติซึมเศร้าของผู้ป่วยและครอบครัว และพิจารณาเป็นราย ๆ ร่วมกับติดตามใกล้ชิด
▫️มีรายงานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า เป็น idiosyncratic effect ในคนมีประวัติครอบครัวมีภาวะ depression, MDD
▫️แต่ในบางรายงานพบว่า ทำให้ภาวะซึมเศร้าลดลงหลังจากใช้ยารักษาให้สิวดีขึ้น

6. ผลข้างเคียงแบ่ง 3 อย่างหลัก ๆ ได้แก่

• Teratogenic ไม่ขึ้นกับ dose

ตรวจการตั้งครรภ์ยืนยัน 2 ครั้ง และคุมกำเนิด 2 วิธี
▫️เด็กพิการ คลอดก่อนกำหนด แท้ง
▫️ตรวจการตั้งครรภ์ : ก่อนรักษา 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน, หลังสิ้นสุดการรักษาแล้ว 1 เดือน
▫️อย่าลืม consent form, Pregnancy Prevention Program หรือ iPLEDGE
▫️คุมกำเนิด 2 วิธี : เริ่มตั้งแต่ก่อนรักษา 1 เดือน จนถึงหลังสิ้นสุดการรักษา 1 เดือน

• Clinical


Cutaneous
▫️ปากแห้ง ตาแห้ง ผิวลอกแตกเป็นแผล เลือดกำเดาไหล เป็น dose-dependent จากการที่ยาทำให้เกิด sebum suppressive effect, epidermal dyscohesion
▫️ ผื่นรุนแรง Steven-Johnson syndrome, Toxic Epidermal Necrolysis เสียชีวิตได้
▫️บางรายเกิดสิวเห่อรุนแรง acne fulminans หลังการเริ่มทานยา มักเกิดในเดือนแรก
Extra-cutaneous
▫️เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ทุกระบบตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า (ดังรูป) *คิดก่อนซื้อมากินเองเสมอว่าคุ้มแลกกับผลข้างเคียงหรือไม่
▫️อาการปวดหัวจากความดันในสมองสูงขึ้น หากทานคู่กับยาฆ่าเชื้อกลุ่ม tetracycline จึงห้ามให้ร่วมกัน

• Laboratory


▫️ไขมันสูง : แนะนำตรวจ cholesterol, triglyceride ก่อนเริ่มยา, หลังเริ่มยา 6 สัปดาห์ และต่อไปทุก 6 เดือน
▫️ตับอักเสบ : แนะนำตรวจ SGOT, SGPT ก่อนเริ่มยา, หลังเริ่มยา 6 สัปดาห์ และต่อไปทุก 6 เดือน
▫️เอนไซม์กล้ามเนื้อสูง : อาจตรวจ CPK ก่อนเริ่มยาในกรณีเคส moderate physical excercise
▫️Bone change

7. ยาสิว isotretinoin มีผลต่อโครงสร้างของ skin barrier function จึงต้องใช้ครีมกันแดดและครีมบำรุงผิวร่วมด้วยเสมอ นอกจากนั้นยังส่งผล ดังนี้
▫️เพิ่มการสูญเสียน้ำ
▫️เพิ่มการสะสมเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่ผิวหนัง
▫️ผิวไวต่อแสงแดด

8. วิธีการดูแลและป้องกันอันตรายต่อดวงตา
▫️หากตาแห้งควรหยอดตา
▫️เลี่ยงการใช้ contact lens
▫️สวมแว่นกันแดด

9. วิธีการดูแลริมฝีปาก
▫️อาการปากแห้งนิด ๆ เป็นสัญญาณดีที่อยากให้มี บอกถึงการตอบสนองของยา
▫️ควรทาลิปมันหรือวาสลีนบ่อย ๆ และควรผสม SPF อย่างน้อย 15-30

10. งดบริจาคเลือดในระหว่างรับประทานยา จนกระทั่งหลังหยุดยา 1 เดือน

Reference: Journal of American Academy of Dermatology 2016; 74: 945-73.

🚩 โพสนี้อยากแชร์ให้เห็นถึงข้อมูลของยากรดวิตามินเอรับประทานรักษาสิว ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ต้องควบคุมการจ่ายในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบมีการนำมาขายตามร้านยา การฝากเพื่อนซื้อ หรือวิธีการใดก็ตาม และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจเพราะกินตามเพื่อน หรือ ได้ข้อมูลมาเพียงบางมุมของยา เช่น กินแล้วหน้าใส ลดความมัน สิวหายเร็วกว่าการทายา
🚩ควรศึกษาให้ดีก่อนเกิดผลเสียที่รุนแรงตามมาจากการทานยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้

✔️ การรักษาสิวให้หาย อาจต้องใจเย็นและให้เวลากับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
✔️ ในมุมมองของหมอในฐานะอายุรแพทย์โรคผิวหนัง ผ่านการรักษาเคสสิวรุนแรงมาไม่น้อย และพบเจอเคสสิวที่มีผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยากินตัวนี้มาก็ไม่น้อยเช่นกัน การมีโอกาสได้เห็นทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ทำให้ตระหนักถึงความปลอดภัยก่อนจ่ายยาตัวนี้ให้คนไข้เสมอ และอยากให้ทุกคนที่ได้อ่านโพสนี้ตระหนักในความปลอดภัยของตัวเองเช่นกัน
✔️ อย่ามัวกังวลว่าจะสวยช้า เอาเป็นว่าสวยช้าแต่สวยนานและปลอดภัยดีกว่าสิ่งอื่นใด
✔️ ใครกินอยู่ควรอ่าน เพื่อนใครกินควรแชร์ให้เพื่อนมาอ่านเช่นกัน

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
Reference:
Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology. 2019; 12: 943-951.
Journal of American Academy of Dermatology 2016; 74: 945-73.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

เทรนด์รักษาสิวยุคใหม่

การรักษาสิว เหมือนจะไม่มีอะไรมาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว เพราะ Guideline ก็ส่วนหนึ่งที่ให้เรายึดตามแนวทาง แต่การปรับใช้กับคนไข้นั้นเป็นศาสตร์และศิลป์เพราะผิวแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันยารักษาสิวยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมไปจากเดิมเท่าไรนัก แต่แนวโน้มการรักษาก็จะประมาณนี้

1. ยาทากรดวิตามินเอ : ใช้ทุกรายหากไม่มีข้อห้าม หายแล้วยังแนะนำให้ใช้ต่อแบบห่าง ๆ ช่วยป้องกันได้
2. เบนซิลเปอออกไซด์ : ใช้ในสิวอักเสบจะดี ไม่ต้องใช้ทุกราย
3. กลุ่มฮอร์โมน : ได้ผลดีใน ผญ ที่มีลักษณะฮอร์โมนผิดปกติ
4. ยากินกรดวิตามินเอ : ยังไม่ปรับ Guideline แนะนำใช้เมื่อจำเป็น แนวโน้มมาทางใช้แบบ low dose
5. ยาฆ่าเชื้อกิน/ทา : ใช้เมื่อจำเป็น ไม่ใช้เดี่ยวๆ ลดเชื้อดื้อยา
6. ปรับพฤติกรรมการดูแลผิวที่เหมาะสม : ยืนหนึ่ง! ต้องปฏิบัติตัวควบคู่กับการรักษาด้วยยา
7. เลเซอร์และแสงรักษาสิว & ยากลุ่มใหม่ ๆ : รอติดตาม
8. ยาอื่น : ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตามสภาพผิว บนพื้นฐานแนวทางรักษาที่ได้มาตรฐาน

หากใครเป็นสิวเรื้อรัง เป็นสิวไม่หายสักที แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังร่วมประเมินนะคะ หมอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ประสบปัญหาสิวค่ะ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

6 วิธีเอาชนะสิวเครื่องสำอาง (Acne cosmetica)

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิวชนิดนี้เกิดจากการอุดตันจากการมีเครื่องสำอางตกค้าง มักมีลักษณะเป็นสิวผดเล็ก ๆ บริเวณหน้าผาก แก้ม คาง มักเกิดอาการหลังใช้หรือเปลี่ยนเครื่องสำอางประมาณ 1-2 สัปดาห์ และอาการดังกล่าวมักดีขึ้นเมื่อหยุดใช้เครื่องสำอาง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ข้อห้ามของการแต่งหน้าในอนาคตนะคะ

แต่เราควรมีวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดการเกิดสิวตามมาได้หลายวิธี

  1. เลือกเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการอุดตันน้อย โดยมากมักระบุ oil-free, won’t clog pores, non-comedogenic
  2. ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง เช้า ก่อนนอน ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำมัน และมีความสามารถทำความสะอาดผิวได้อย่างล้ำลึกโดยใช้ปลายนิ้วนวดวนที่ใบหน้าเบา ๆ และควรหลีกเลี่ยงการขัดสครับที่ผิวหน้า
  3. กรณีที่แต่งหน้า ควรใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดล้างเครื่องสำอางให้สะอาดก่อนทำการล้างหน้าให้สะอาดอีก 1 ครั้ง
  4. การแต่งหน้าที่ถูกต้องควรแต่งเบา ๆ ด้วยแปรงแต่งหน้าที่มีขนนุ่ม เพื่อลดการระคายเคืองผิว
  5. ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้าทุกสัปดาห์ และหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์แต่งหน้าร่วมกับผู้อื่น
  6. หากมีภาวะ Acne cosmetica ควรหยุดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด รักษาสิวให้หายก่อนด้วย Benzyl peroxide, Salicylic acid, Adapalene โดยส่วนมากมักดีขึ้น 4-8 สัปดาห์

❌❌❌ ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่ควรหลีกเลี่ยง ❌❌❌

เนื่องจากมักก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขนและก่อสิวตามมา ได้แก่ lanolin, vegetable oils, pure chemical เช่น butyl stearate, lauryl alcohol, oleic acid, tars, chlorinated oils เป็นต้น

❤️ การล้างหน้าให้สะอาด ยังเป็นสิ่งที่หมอเน้นย้ำเสมอ
❤️ ผลิตภัณฑ์เช็ดล้างเครื่องสำอาง ยังคงแนะนำให้ใช้ในคนที่แต่งหน้าร่วมด้วยค่ะ

หากอาการดังกล่าวเป็นมากขึ้น ควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References
Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine 7th edition
Dermatology 2013; 226(4): 337-41.
Arch Dermatol. 1972; 106(6): 843-850.
AAD.org
Picture was licensed by freepik


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

เทคนิคการทาวิตามินเอไม่ให้หน้าลอก

(Updated May 23′ 2021)

ช่วงนี้มีเคสสิวมาปรึกษาค่อนข้างเยอะ และมีหลายคนที่ยังไม่เคยใช้ยาทากลุ่มวิตามินเอ ก็เลยทำรูปสรุปมาให้เก็บไว้ดูง่ายค่ะ เป็นเวอร์ชั่นอัพเดทจากอันเดิมสีเหลืองนะคะ มาเซฟไปใหม่นะ 🙂

🌟 วิธีการตามนี้

✔️ เริ่มทาที่ความเข้มข้นต่ำก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้น
✔️ เริ่มทาชนิดที่ระคายเคืองน้อยก่อน เช่น adapalene gel, tazarotene cream แล้วจึงปรับชนิดที่ระคายเคืองมากขึ้น เช่น tretinoin gel/cream
✔️ ทาปริมาณน้อย เท่าเมล็ดถั่วลิสง
✔️ เริ่มทา วันเว้นวัน นาน 2-4 สัปดาห์แล้วค่อยเพิ่มความถี่ในการทา หรืออาจเว้นห่างกว่านี้หากมีอาการระคายเคืองมาก
✔️ เริ่มการทาด้วยวิธี short contact คือ ทาทั่วหน้า 30-60 นาที แล้วล้างออก ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการเริ่มใช้ หรืออาจล้างเร็วกว่านี้หากมีอาการระคายเคืองมาก
✔️ ทาครีมกันแดดร่วมด้วยเสมอ
✔️ ใช้ non-comedogenic moisturizer ร่วมด้วย
✔️ ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน

หากมีปัญหาแนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง เพิ่มเติมค่ะ

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

10 เรื่องเกี่ยวกับสิวที่อาจเข้าใจไม่ถูกต้อง

❌ เป็นสิวไม่ต้องรักษา ปล่อยให้หายเองก็ได้
✔️ สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ ควรรักษา ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา เช่น หลุมสิว แผลเป็น

❌ สิวเป็นปัญหาที่พบเฉพาะวัยรุ่น ในวัยผู้ใหญ่หรือวัยกลางคนไม่สามารถเป็นสิวได้
✔️ ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับการเกิดสิว คือ ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งพบได้บ่อยในการเปลี่ยนแปลงช่วงวัยรุ่น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้พบสิวในวัยรุ่นได้บ่อยกว่าวัยอื่น แต่วัยอื่นก็สามารถพบสิวได้เช่นกัน และหากพบมีสิวเกิดขึ้นในวัยกลางคนขึ้นไป อาจต้องทำการปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่ามีสาเหตุใดที่ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหรือไม่ เช่น ยา เนื้องอก ถุงน้ำรังไข่ และอื่น ๆ

❌ การเช็ดหนัาด้วยน้ำเกลือช่วยรักษาสิวได้
✔️ ยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้น้ำเกลือเช็ดหน้า มีประโยชน์ในแง่เพื่อการรักษาสิว แนะนำให้ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดหรือใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม non-comedogenic

❌ คนเป็นสิวไม่ควรแต่งหน้า
✔️ การแต่งหน้าที่หนาและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน อาจทำให้เกิดสิวจากการอุดตันรูขุมขนได้ แต่คนที่เป็นสิวไม่ได้เป็นข้อห้ามของการแต่งหน้า สามารถแต่งได้ แต่เลือกผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อการอุดตัน comedogenic score 0-2 {อ่านเพิ่มได้จากโพสก่อนหน้า} ช่วงที่เป็นสิวไม่ควรแต่งหน้าหนามาก และที่สำคัญควรล้างหน้าให้สะอาดและใช้ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางด้วยเสมอ

❌ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้รักษาสิว ยิ่งราคาแพง ยิ่งเห็นผลการรักษาดี
✔️ ผลการรักษาดีหรือไม่ ไม่ขึ้นกับราคา แต่ขึ้นกับวิธีการรักษาที่ถูกต้อง และการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับชนิดของสิวที่เป็นอยู่

❌ คนเป็นสิวควรใช้อุปกรณ์หรือครีมผลัดเซลล์ผิวร่วมด้วยเสมอเพื่อป้องกันการอุดตันรูขุมขน
✔️ คนเป็นสิวสามารถใช้ Chemical Exfoliants ได้ เช่น BHA และแนะนำมากกว่าการใช้วิธี Mechanical Exfoliants ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ล้างหน้าต่าง ๆ เพราะจะก่อการระคายเคืองและทำให้สิวอักเสบมากขึ้นได้ ถ้าหากใช้อุปกรณ์เหล่านี้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

❌ นอนหมอนสกปรก ทำให้เป็นสิวได้
✔️ การเกิดสิวไม่ได้เกิดจากการนอนหมอนสกปรก {ทบทวนกลไกการเกิดสิวได้จากโพสก่อนหน้า} แต่การที่ใบหน้าสัมผัสสิ่งสกปรก อาจทำให้สิวเกิดการอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้รักษาความสะอาดด้วยเสมอ

❌ คนเป็นสิว ไม่ควรใช้มอยซ์เจอไรเซอร์และครีมกันแดด
✔️ คนที่เป็นสิวมักมีผิวที่ค่อนข้าง sensitive และยิ่งหากใช้ยารักษาสิวร่วมด้วย จะยิ่งทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองและไวต่อแสงแดดง่ายขึ้น สิ่งที่แนะนำคือ ควรทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและครีมกันแดดเป็นประจำ โดยเลือก non-comedogenic, non-oily เช่น อาจใช้ในรูปแบบเจล เป็นต้น

❌ ยาสีฟัน สามารถใช้รักษาสิวได้ เพราะมีสารที่ช่วยฆ่าเชื้อและลดการอักเสบผสมอยู่
✔️ ถึงแม้ส่วนผสมในยาสีฟันอาจมีคุณสมบัติ anti inflammation, antibacterial ร่วมด้วยก็ตาม แต่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาเพื่อใช้กับผิวที่ใบหน้า ดังนั้นอาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น ระคายเคือง เกิดสีผิวด่างหรือรอยดำผิดปกติได้ จึงไม่ควรนำยาสีฟันมาใช้แต้มสิว

❌ สิวทุกชนิดสามารถกดออกได้
✔️ การกดสิวเป็นวิธีที่ใช้รักษาสิวอุดตันเท่านั้น และควรต้องทำด้วยอุปกรณ์ที่มีความสะอาดและผู้มีความชำนาญอย่างถูกวิธี เพราะอาจมีผลแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ติดเชื้อ หลุมสิว แผลเป็น
ส่วนกรณีสิวอักเสบไม่ควรกด อาจใช้วิธีทายา หรือฉีดสิวร่วมด้วยในกรณีที่เป็นรุนแรง

หากมีคำถามที่อยากรู้คำตอบเพิ่มเติม สามารถถามในโพสนี้ได้เลย แล้วจะมาตอบนะคะ


▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.