Category Archives: Acne

มีสิวที่หลังต้องอ่าน เรียนรู้ทางแก้ด้วยตัวเอง

Picture was licensed by Freepik

⭐️ ทุกคนอยากมีแผ่นหลังที่ขาวเนียนใสกันทั้งนั้น

⭐️ เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาโลกแตก สิวที่หลัง ลำตัว หรือ ช่วงอกที่รักษาไม่หายสักที

⭐️ โพสนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า สิวที่ลำตัว (Truncal acne) คืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร แตกต่างจากสิวที่หน้าหรือไม่

🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩


มาดูข้อเท็จจริงกัน

ต้องบอกก่อนว่า “Truncal acne” ใช้เรียกกรณีเป็นสิวที่ลำตัว ไม่ว่าเป็นส่วน หลัง แขน หน้าอก (ที่ไม่ใช่ สิวที่ใบหน้า) ซึ่งมีความ แตกต่างจากสิวที่หน้าบ้างในบางประเด็น

1️⃣ คนเป็นสิวที่หน้า มักมีสิวที่ลำตัวร่วมด้วยประมาณ 50% แต่มีส่วนน้อยที่อาจมีสิวที่ลำตัวโดยไม่มีสิวที่หน้า

2️⃣ สาเหตุการเกิดสิวที่ลำตัว คล้ายกับ สิวที่หน้า ได้แก่
🦠 แบคทีเรีย C.acne (ชื่อเดิม P.acne)
🦠 ฮอร์โมนเพศ จึงพบบ่อยในวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น
🦠 กรรมพันธุ์
🦠 ความเครียด

3️⃣ คนเป็นสิวที่หลัง แม้จะพบไม่บ่อย แต่แนวโน้ม มักมีอาการรุนแรงกว่า เป็นตุ่มหนองที่อักเสบเยอะกว่า และมีโอกาสเกิดร่องรอย หลุมสิว หรือแผลเป็นนูนตามมาได้มากกว่า และรักษาให้หายขาดได้ยากกว่าสิวที่หน้าเพราะเหตุผลคือ

🦠 เป็นบริเวณที่มองไม่เห็น ทำให้อาจทายาไม่ทั่วถึง
🦠 เป็นบริเวณกว้าง ทำให้มีข้อจำกัดของการทายา เช่น
❌ แสบระคายเคืองจากการทายาปริมาณมาก
❌ ยาบางตัวเช่น benzyl peroxide อาจทำให้กัดสีเสื้อ หรือ ผ้าปูที่นอนตอนนอน เกิดการด่างได้
🦠 เป็นบริเวณที่เกิดสิวอุดตันและอักเสบได้บ่อย เพราะมีการเสียดสีกับเสื้อผ้า, ที่นอน, เส้นผมโดยเฉพาะคนผมยาว
🦠 เป็นบริเวณที่เกิดการระคายเคืองได้บ่อย จากเหงื่อหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย
🦠 เป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เหงื่อเยอะ จึงมีโอกาสเกิดสิวจากเชื้อราร่วมด้วยได้บ่อย
🦠 ลำตัวเป็นบริเวณที่ผิวหนังมีความหนากว่าที่หน้า ทำให้การตอบสนองต่อการทายาไม่ดีเท่าที่ควร

————————————————

ดังนั้น หากเราทราบดังนี้แล้ว มาดูกันว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

📌 ลดการระคายเคืองและเสียดสี
▫️สวมเสื้อผ้าไม่รัดแน่น เนื้อผ้าไม่หยาบกระด้าง แนะนำผ้าคอตตอนหรือลินิน จะช่วยระบายอากาศได้ดี ลดการอับชื้น
▫️หลีกเลี่ยงการขัด ถู สครับผิวด้วยความแรง บางคนใช้ครีมหรืออุปกรณ์สครับผิวเพื่อหวังลดสิวอุดตัน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรทำเพราะเป็นความเข้าใจที่ผิด
▫️หลีกเลี่ยงการแกะหรือบีบสิว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ และเกิดรอยดำ แผลเป็นนูนตามมาได้

📌 ทำความสะอาดผิวกายอย่างถูกวิธี
▫️อาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน วันละ 2 ครั้ง
▫️อาจมากกว่านี้กรณีที่มีเหงื่อออกมาก หรือ หลังออกกำลังกาย
▫️ฟอกด้วยแชมพูที่ผสมยา สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ช่วยลดความมันและการติดเชื้อราที่รูขุมขนได้ เช่น Ketoconazole shampoo (Ketazon, Nizoral), Hibiscrub, Selenium sulfide (Selson), Sulphur soap (Harrogate soap)

📌 ทายารักษาสิว ที่ใช้ได้ คือ
▫️Salicylic acid (Lotion P)
▫️Benzyl peroxide 2.5-5% (Benzac) ทาทิ้งไว้ 3-5 นาทีแล้วล้างออก ไม่แนะนำให้ทาทิ้งไว้เพราะระคายเคืองและอาจทำให้เสื้อผ้า ที่นอน ด่างได้
▫️ยาทากลุ่มวิตามินเอ (Topical retinoids) มักเกิดการระคายเคืองได้มาก เพราะต้องทาบริเวณกว้าง และการตอบสนองไม่ค่อยดีเท่าที่ควรเพราะผู้ป่วยมักทนผลข้างเคียงไม่ไหว แนะนำให้ใช้ตัวที่ระคายเคืองน้อย
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัย RCT phase 3 ยาทาตัวใหม่ในกลุ่มนี้ได้ผลค่อนข้างดีในการใช้ทาสิวลำตัว คือ Topical trifarotene 50 ug/g ทาวันละครั้ง
▫️ยาทากลุ่ม azaleic acid (Skinoren)
▫️ยาทากลุ่ม dapsone 7.5% gel

🆘 ไม่แนะนำให้ใช้ยาทาฆ่าเชื้อสิวเดี่ยวๆ เช่น clindamycin/erythromycin/metronidazole lotion เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
🆘 ทาครีมบำรุงผิวร่วมด้วยเสมอ
🆘 สิวที่ลำตัว มักตอบสนองไม่ค่อยดีต่อการรักษาด้วยยาทาตามที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนใหญ่ไม่แปลกที่ผู้ป่วยจึงมักลงเอยด้วยการรักษาด้วยยารับประทานร่วมด้วย

————————————————

ถึงจุดนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังร่วมดูแลค่ะ

📌 ยากิน
▫️ยารับประทานฆ่าเชื้อ ใช้ชนิดและขนาดเดียวกับการรักษาสิวที่หน้า
▫️ยารับประทานกลุ่มวิตามินเอ ใช้ขนาดเดียวกับการรักษาสิวที่หน้า ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้เหมือนสิวที่หน้า ได้แก้ severe nodulocystic acne, non responsive to topical agents
▫️ยากลุ่มปรับฮอร์โมน เช่น OCPs หรือ spironolactone ใช้เฉพาะรายที่มีภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนร่วมด้วยเท่านั้น

📌 รักษาผลแทรกซ้อนที่ตามมา
▫️รอยดำ อาจใช้ skinoren หรือ topical lightening agent
▫️แผลเป็นนูน คีลอยด์ มีการรักษาหลายวิธีขึ้นกับแพทย์พิจารณาการรักษาเป็นราย ๆ ไป

🌈 หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่ประสบปัญหาโลกแตกสิวที่ลำตัวไม่หายสักที ใครมีคำถามที่สงสัยถามไว้ในคอมเม้นต์ได้เลยค่ะ
🌈 แชร์เผื่อเพื่อนที่มีสิวอ่านด้วยนะคะ

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ใส่แมสก์อย่างไร..ไม่ให้สิวบุก !!!

[ Q: ใส่แมสก์อย่างไรไม่ให้สิวบุกกก !!! ]

🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭

เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา ลองดูปัญหาของผิวที่เกิดจากการใส่แมสก์ที่พบได้มีอะไรบ้าง

  1. สิวอุดตัน จากการเสียดสีของแมสก์กับผิว ทำให้รูขุมขนอุดตัน เราเรียกว่า acne mechanica
  2. สิวอักเสบ เนื่องจากการหายใจและพูดตลอดเวลาภายใต้หน้ากาก ทำให้เกิดความชื้นจากลมหายใจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นเสียสมดุลไปจากเดิม ประกอบกับน้ำลายจากการพูด ส่งผลให้เป็นมีการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดสิวอักเสบตามมาได้
  3. ผื่นแพ้จากการระคายเคือง มีอาการอักเสบแดงคันได้ โดยเฉพาะบริเวณที่เสียดสีบ่อย ๆ เช่น บริเวณแนวกราม jawline
  4. ผิวแห้งและเกิดริ้วรอยเล็ก ๆ ก่อนวัย จากการเสียดสีของแมสก์กับผิวหน้าบ่อย ๆ
  5. ผื่นแพ้สัมผัสจากการแพ้สาร dibromodicyanobutane, thiuram (พบน้อยมาก)

👩🏻‍⚕️ดังนั้นหลักการป้องกันปัญหาผิวจากการใส่แมสก์จำง่าย ๆ คือ

ลดพฤติกรรมที่ทำให้มีการเสียดสีของแมสก์กับผิว


🚫 ไม่จับหน้าหรือดึงแมสก์ใส่ ๆ ถอด ๆ บ่อย ๆ
🚫 กรณีใช้หน้ากากผ้า ควรเลือกเนื้อผ้าที่มีความอ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง แนะนำผ้า cotton ดีที่สุด เนื่องด้วย cotton จะสามารถระบายอากาศได้ดีและช่วยลดการระคายเคืองได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น รวมทั้งรูปแบบการตัดเย็บควรเลือกที่ตะเข็บรอยต่อน้อยหรือด้ายเย็บที่ไม่โผล่ผื่นมาระคายผิว อย่างไรก็ตาม CDC แนะนำให้ใส่หน้ากากกระชับพอดีดังนั้นถึงแม้ใช้ผ้าคอตตอนแล้ว ก็ยังต้องทาครีมบำรุงผิวเพื่อลดการระคายเคืองจากการเสียดสีเช่นกัน
🚫 ดูภาพประกอบเกี่ยวกับวิธีการทำ Homemade DIY mask ที่แนะนำโดย CDC { https://www.facebook.com/476743752739537/posts/940896552990919/ } หรือ ดูจากคลิปนี้ How to Make Your own Face Covering https://youtu.be/tPx1yqvJgf4
🚫 กรณีใช้ surgical mask อาจใช้กระดาษทิชชู่ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มและบางเบา คั่นรองไว้ระหว่างแมสก์กับผิวบริเวณที่เกิดการเสียดสี ไม่ควรรองหลายชั้นเพราะอาจเพิ่มความอับชื้นและอาจเพิ่มความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการทำให้เกิดช่องว่างเนื่องจากแมสก์ไม่แนบกับผิวหน้า
🚫 การขยับปากพูดเยอะ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มการเสียดสีของผิวบริเวณแนวกรามมากขึ้นเช่นกัน

ไม่ทำให้เกิดความชื้นสูงบริเวณผิวหน้าภายใต้แมสก์


🚫 เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศร้อน ซึ่งจะทำให้เหงื่อออกมากขึ้น
🚫 หากอยู่คนเดียวในที่ไม่มีความเสี่ยง อาจถอดแมสก์เพื่อให้ผิวได้ถ่ายเทลดความอับชื้น
🚫 ควรเปลี่ยนทิชชู่ที่ใช้รองบ่อย ๆ ทุกชั่วโมง หรือเมื่อรู้สึกอับชื้นหรือมีกลิ่นเหม็นจากเหงื่อหรือน้ำลาย

บำรุงผิวอย่างถูกวิธี


🧼 อย่าให้ผิวแห้งเพราะจะเป็นบ่อเกิดความระคายเคืองและติดเชื้อตามมาได้
🧼ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม ในที่นี้คือ ต้องมีคุณสมบัติในการสร้างความแข็งแรงให้ผิว เพิ่มความชุ่มชื้น ควบคุมความมัน จะช่วยลดการระคายเคืองและสิวอุดตันตามมาได้
🚫 แนะนำผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน เนื้อบางเบา ไม่ก่อสิว (light water-based moisturizer, oil-free, noncomedogenic moisturizer)
🚫 เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงจากการแพ้ได้
🚫 เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีความมันหรือน้ำมัน เพราะเพิ่มโอกาสการก่อสิวได้
🚫 แนะนำให้แต่งหน้าเบา ๆ อาจแต่งแค่ครึ่งบนของหน้า หากไม่แต่งเลยจะลดการเกิดสิวได้ดีที่สุด เพราะมีโอกาสเกิดการอุดตันจากการระคายเคืองจากการเสียดสีของ mask กับเครื่องสำอางบนผิวหน้าได้
🚫 แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวในกลุ่ม BHA หรือ Salicylic ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงที่ต้องสวม mask บ่อย ๆ เพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในรูขุมขน จากการล้างหน้าปกติที่อาจทำความสะอาดไม่หมด วิธีนี้ช่วยป้องกันสิวเห่อช่วงใส่แมสก์ได้ดีทีเดียว

ดูแลความสะอาดของผิวหนังอย่างถูกวิธี


🚫 ใช้ Make up remover เสมอในกรณีแต่งหน้า
🚫 โดยปกติแล้วเราจะแนะนำให้ล้างหน้า 1 รอบเช้าเย็น แต่หากใส่ mask แนะนำให้ล้าง 2 รอบ หรือเวลาเหงื่อออกเยอะ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกที่สะสมออกให้หมดจด แต่ไม่ควรมากกว่านี้เพราะจะเป็นการทำลายน้ำมันที่เคลือบปกป้องผิว ส่งผลให้ผิวแห้งและอาจเกิดการระคายเคืองได้มากขึ้น
🚫 ใช้น้ำสะอาด อุณหภูมิปกติ ไม่ใช้น้ำอุ่นหรือร้อน เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองมากขึ้น
🚫 ใช้สบู่เหลว เจล หรือ โฟม ที่มีค่า pH balance ใกล้เคียงผิวปกติ คือ 5-5.5 , หลีกเลี่ยงสบู่ก้อนหรือผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่มีความเป็นด่าง (*ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรใช้ จะสังเกตได้จากหลังล้างหน้าแล้วจะรู้สึกผิวตึง)
🚫 ใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ซับผิวหลังล้างหน้า ไม่ควรถูหรือเช็ดที่ใบหน้าด้วยผ้าที่หยาบกระด้าง

ดูแลความสะอาดของหน้ากาก


🚫 ควรเปลี่ยน mask ทุกวัน
🚫 ซักหน้ากากผ้าให้สะอาดทุกวัน

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมก่อสิว


🚫 อาหารที่อาจก่อให้เกิดสิว
🚫 เลี่ยงความเครียด
🚫 ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังเมื่อเกิดผื่นแพ้ระคายเคืองหรือมีสิวอักเสบรุนแรง


🚫 ผื่นแพ้ระคายเคือง มักมีอาการคัน สามารถทานยาแก้แพ้แก้คันในกลุ่ม Oral antihistamine ในเบื้องต้นได้
🚫 สิวอุดตันที่ไม่รุนแรง อาจใช้ยาทารักษาสิวเบื้องต้นได้ เช่น Benzyl peroxide, Salicylic acid Spot treatment {อ่านเพิ่มเติมเรื่องการรักษาสิวด้วยตนเองในช่วงโควิดระบาดในโพสก่อนนี้}
🚫 หากมีอาการผื่นรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าสาเหตุผื่นเป็นจากอะไร จะได้รับการรักษาตรงจุดค่ะ

References
AAD.org
CDC
Fitzpatrick textbook of dermatology
Picture was licenced by Shutterstock
▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️


When in doubt,
Ask your Board-certified Dermatologist

เรียบเรียงโดยแพทย์หญิงวรายุวดี อมรภิญโญ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ผิวมัน เป็นสิวง่าย Comedogenic Rating ช่วยได้อย่างไร

มีคำถามมาเยอะเกี่ยวกับการเกิดสิวหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โพสนี้น่าจะช่วยได้

Comedogenic Rating คือ อะไร

อันดับแรก กลับไปอ่านโพสเกี่ยวกับ Acne Cosmetica การเกิดสิวจากเครื่องสำอาง

อันดับสอง มาทำความรู้จัก Comedogenic rating กันในโพสนี้ค่ะ แบบสั้น ๆ ไขข้อข้องใจ นำไปประยุกต์ใช้ได้

💯 Comedogenic rating คือ การจัดอันดับสารว่าทำให้เกิดการอุดตันและก่อให้เกิดสิวมากหรือน้อยแค่ไหน โดยแบ่งเป็น คะแนน 0-5 (ตัวเลขอาจบวกลบได้เล็กน้อยขึ้นกับงานวิจัย แต่จะอยู่ประมาณค่าตามตาราง)
0 = ไม่อุดตัน
1-2 = อุดตันเล็กน้อย
3 = อุดตันปานกลาง
4-5 = อุดตันสูง
โดยที่มีการทำสารต่าง ๆ เหล่านี้มาทดสอบหลังการทาว่าทำให้เกิด follicular hyperkeratosis รอบรูขุมขนมากน้อยแค่ไหน แต่ยังเป็นนิยามที่ไม่ได้มีการระบุคำจำกัดความชัดเจนในแง่ทางการแพทย์ เพียงแต่ว่าเป็นการจัดอันดับถึงการอุดดันรูขุมขนที่รวบรวมจากหลาย ๆ การทดลองเท่านั้น
ดังนั้น คนที่เป็นสิวง่ายผิวมันแนะนำ 0-2

💯 การที่สารชนิดหนึ่งไม่ก่อสิวในคนหนึ่ง ไม่ใช่เครื่องการันตีได้ว่าจะไม่ก่อสิวในทุกคน เพราะการเกิดสิวอุดตันมีหลายปัจจัย และนอกจากนั้น สภาพผิวแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อนใช้แล้วไม่มีสิว ไม่ได้แปลว่าเราใช้แล้วจะรอดเสมอไป

💯 Petrolatum เป็นสารที่บริสุทธิ์มาก และไม่ทำให้เกิดการอุดตันอย่างที่หลายคนเข้าใจ (Score 0) การใช้วาสลีนแล้วเกิดสิว อาจเป็นจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย

💯 คนที่เป็นสิวอุดตันบ่อย ๆ ผิวมัน สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้ โดยที่ควรเลือกกลุ่มที่คะแนน 0-2 เช่น Mineral Oil (Score 0) และเลี่ยงกลุ่มคะแนน 3 ขึ้นไป

💯 Comedogenic rating ระบุแค่ความเป็นไปไม่ได้ในการอุดตันรูขุมขน หากสารนั้น ๆ ค่าอุดตันน้อย แต่มีความเข้มข้นของสารในปริมาณมาก หรือเนื้อสารเองเป็นชนิดที่ระคายเคืองง่าย ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน

💯 Comedogenic rating มีประโยชน์ในการนำในประยุกต์ใช้ในการเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับ กลุ่มคนที่ผิวมันและเป็นสิวง่าย (Oily and Acne-prone skin)

💯 น้ำมันมะพร้าว ที่บอกว่าบริสุทธิ์ 100% และมักนำผสมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น แต่ก็ก่อสิวได้สูงมาก (Score 4) อย่างไรก็ตาม การนำมาผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวนั้นใช้ความเข้มข้นไม่มาก ก็อาจจะไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันเสมอไปถึงแม้จะคะแนนสูง แนะนำให้ใช้ด้วยความระมัดระวังในคนผิวมัน เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย

💯 ผิวหนังที่หน้าและที่ตัวไม่เหมือนกัน การทาที่หน้าแล้วก่อสิว ไม่จำเป็นว่าจะก่อสิวหากทาที่บริเวณอื่น เช่น หลัง

“ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติม คอมเม้นไว้ เดี๋ยวมาตอบเพิ่มนะคะ หวังว่าจะได้ไอเดียในการนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ และอย่าลืมว่าการเกิดสิวอุดตัน สิวอักเสบนั้นมีหลายปัจจัย การเลือก Comedogenic rating เป็นเพียงหนึ่งส่วนที่จะช่วยลดตรงจุดนี้ได้ค่ะ”

When in doubt,

Ask your Board-certified Dermatologist

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

สรุปเกี่ยวยารักษาสิว Oral Isotretinoin ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

Update in Oral Isotretinoin for acne treatment

💊💊💊💊💊💊💊💊💊💊💊💊💊

💯 เป็นยาอันตรายที่มีการควบคุมการใช้โดยแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อกินเองโดยไม่มีข้อบ่งชี้ และระวังยาปลอมลอกเลียนแบบ

💯 แคปซูลของยา มีส่วนผสมที่ทำจากพาราเบน -> ห้ามใช้ในคนที่แพ้พาราเบน
กลุ่มคนเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงสารพาราเบนที่มักผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว

💯 ข้อบ่งชี้ -> ไม่แนะนำให้ซื้อกินเองหากไม่มีข้อบ่งชี้
▫️สิวหนองรุนแรง (Severe nodulocystic / papulopustular acne)
▫️ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น (Minimal response to previous treatment)
▫️กรณีอื่น ๆ อาจพิจารณาโดยแพทย์เป็นรายไป ได้แก่ Significant psychological concern, prone to scarring, limited use of antibiotics

💯 ขนาดที่ใช้ -> #doseอื่นยังไม่มีรายงานว่าได้ผล_หยุดยาเร็วเกินไปจะทำให้สิวกลับเป็นซ้ำ #แนะนำให้ทานหลังอาหารทันทีเพื่อเพิ่มการดูดซึมยา
▫️Standard dose : International guideline แนะนำเริ่มที่ 0.1-0.2 mg/kg/day เพิ่มจนถึง standard dose 0.5 mg/kg/day หากไม่มีข้อห้าม
▫️Low dose : 0.2-0.3 mg/kg/day กินอย่างน้อย 6-12 months

💯 ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายจากยา -> ซักประวัติซึมเศร้าของผู้ป่วยและครอบครัว พิจารณาเป็นรายๆไปและติดตามใกล้ชิด
▫️มีรายงานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า เป็น idiosyncratic effect ในคนมีประวัติครอบครัวมีภาวะ depression, MDD
▫️แต่ในบางรายงานพบว่า ทำให้ภาวะซึมเศร้าลดลงหลังจากใช้ยารักษาให้สิวดีขึ้น

💯 ผลข้างเคียงแบ่ง 3 อย่างหลัก ๆ ได้แก่

  1. Teratogenic ไม่ขึ้นกับ dose -> ตรวจการตั้งครรภ์ยืนยัน 2 ครั้งและคุมกำเนิด 2 วิธี
    ▫️เด็กพิการ คลอดก่อนกำหนด แท้ง
    ▫️ตรวจการตั้งครรภ์ : ก่อนรักษา 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน, หลังสิ้นสุดการรักษาแล้ว 1 เดือน
    ▫️อย่าลืม consent form, Pregnancy Prevention Program หรือ iPLEDGE
    ▫️คุมกำเนิด 2 วิธี : เริ่มตั้งแต่ก่อนรักษา 1 เดือน จนถึงหลังสิ้นสุดการรักษา 1 เดือน
  2. Clinical
    2.1 Cutaneous
    ▫️ปากแห้ง ตาแห้ง ผิวลอกแตกเป็นแผล เลือดกำเดาไหล เป็น dose-dependent จากการที่ยาทำให้เกิด sebum suppressive effect, epidermal dyscohesion
    ▫️ ผื่นรุนแรง Steven-Johnson syndrome, Toxic Epidermal Necrolysis เสียชีวิตได้
    ▫️บางรายเกิดสิวเห่อรุนแรง acne fulminans หลังการเริ่มทานยา มักเกิดในเดือนแรก
    2.2 Extra-cutaneous
    ▫️เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ทุกระบบตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ดังรูป -> คิดก่อนซื้อมากินเองเสมอว่าคุ้มแลกกับผลข้างเคียงหรือไม่
    ▫️อาการปวดหัวจากความดันในสมองสูงขึ้น หากทานคู่กับยาฆ่าเชื้อกลุ่ม tetracycline -> ห้ามให้ร่วมกัน
  3. Laboratory
    ▫️ไขมันสูง -> ตรวจ cholesterol, triglyceride ก่อนเริ่มยา, หลังเริ่มยา 6 สัปดาห์ และต่อไปทุก 6 เดือน
    ▫️ตับอักเสบ -> ตรวจ SGOT, SGPT ก่อนเริ่มยา, หลังเริ่มยา 6 สัปดาห์ และต่อไปทุก 6 เดือน
    ▫️เอนไซม์กล้ามเนื้อสูง -> ตรวจ CPK ก่อนเริ่มยาในกรณีเคส moderate physical excercise
    ▫️Bone change

💯 ยาสิวมีผลต่อโครงสร้างของ skin barrier function -> #ใช้ครีมกันแดดและครีมบำรุงผิวร่วมด้วยเสมอ
▫️เพิ่มการสูญเสียน้ำ
▫️เพิ่มการสะสมเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่ผิวหนัง
▫️ผิวไวต่อแสงแดด

💯 วิธีการดูแลและป้องกันอันตรายต่อดวงตา
▫️หากตาแห้งควรหยอดตา
▫️เลี่ยงการใช้ contact lens
▫️สวมแว่นกันแดด

💯 วิธีการดูแลริมฝีปาก
▫️อาการปากแห้งนิด ๆ เป็นสัญญาณดีที่อยากให้มี บอกถึงการตอบสนองของยา
▫️ควรทาลิปมันหรือวาสลีนบ่อย ๆ และควรผสม SPF อย่างน้อย 15-30

💯 งดบริจาคเลือดในระหว่างรับประทานยา จนกระทั่งหลังหยุดยา 1 เดือน

โพสนี้อยากแชร์ให้เห็นถึงข้อมูลของยารับประทานรักษาสิว ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ต้องควบคุมการจ่ายในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบมีการนำมาขายตามร้านยา การฝากเพื่อนซื้อ หรือวิธีการใดก็ตาม และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจเพราะกินตามเพื่อน หรือ ได้ข้อมูลมาเพียงบางมุมของยา เช่น กินแล้วหน้าใส ลดความมัน สิวหายเร็วกว่าการทายา แต่อยากถามว่า รู้ความจริงในอีกด้านดีแล้วหรือไม่ และ พร้อมรับความเสี่ยงต่อการกินยานี้โดยไม่มีข้อบ่งชี้แล้วหรือยัง

👩🏻‍⚕️ การรักษาสิวให้หาย อาจต้องใจเย็นและให้เวลากับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
👩🏻‍⚕️ในมุมมองของหมอในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง ผ่านการรักษาเคสสิวรุนแรงมาไม่น้อย และพบเจอเคสสิวที่มีผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยากินตัวนี้มาก็ไม่น้อยเช่นกัน การมีโอกาสได้เห็นทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ทำให้หมอตระหนักถึงความปลอดภัยก่อนจ่ายยาตัวนี้ให้คนไข้เสมอ และอยากให้ทุกคนที่ได้อ่านโพสนี้ตระหนักในความปลอดภัยของตัวเองเช่นกัน
👩🏻‍⚕️ อย่ามัวกังวลว่าจะสวยช้า เอาเป็นว่า สวยช้าแต่สวยนานและปลอดภัยดีกว่าสิ่งอื่นใด คนไข้สิวของหมอไม่ต้องกินยาทุกคนก็หน้าใสกันได้หมดนะ ☺️
👩🏻‍⚕️ ใครกินอยู่ควรอ่าน เพื่อนใครกินควรแทคหรือแชร์ให้เพื่อนมาอ่านเช่นกัน

Reference:
Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology. 2019; 12: 943-951.
Journal of American Academy of Dermatology 2016; 74: 945-73.

When in doubt, ask your Board-certified Dermatologist

เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงวรายุวดี อมรภิญโญ
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Novel therapy in acne

เดี๋ยวจะไปประชุมและดูงานที่เกาหลีเกี่ยวกับการรักษาสิวใหม่

ใครอยากรู้อะไรมาทิ้งคำถามไว้นะ เกี่ยวกับการรักษาสิวด้วยสิ่งเหล่านี้ที่กำลังมาแรง
ดูข้อมูลคร่าว ๆ มาให้อ่านเป็นน้ำจิ้มกันก่อน

💭 Daylight photodynamic with ALA gel
อันนี้เด็กก็ใช้ได้ สำหรับคนไม่อยากกินยาฆ่าเชื้อและกรดวิตามินเอชนิดรับประทาน

💭 Gold microparticle therapy
สำหรับสิวชนิดรุนแรง

💭 Oral supplement with myo-inositol
สำหรับคนไม่อยากกินยาคุมและยาฆ่าเชื้อ กลไก คือ ตัวนี้ช่วยลดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และลด insulin-resistance

💭 Probiotics
เสริมการรักษาอื่นเพื่อช่วยลดการอักเสบของสิว

💭 Clascosterone
เป็นยาทาในกลุ่ม Topical antiandrogen therapy กำลังอยู่ใน phase III trial

ใครอยากรู้ต้องรอติดตาม


When in doubt,
Ask your Board-certified Dermatologist

Copyright ©👩🏻‍⚕️HELLO SKIN by หมอผิวหนัง

จริงหรือไม่กับความเชื่อที่ว่า.. กินช๊อคโกแลต กินขนมปัง แล้วสิวเห่อ

🍫🍮🎂🍭🥧🍨🍦🍿🧃🥤🍰🍹

ข้อเท็จจริงในเรื่องของ “อาหาร” กับ “การเกิดสิว” ที่มีหลักฐานจากงานวิจัยมีดังนี้

อาหารในกลุ่มที่มีค่าดัชนี้น้ำตาลต่ำ (Low-glycemic diet) ช่วยลดการกระตุ้นให้เกิดสิวได้

เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ข้าวโอ๊ต เป็นต้น โดยทั้งนี้เกี่ยวกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดหลังรับประทานอาหาร โดยถ้าหากระดับสูง จะส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายมากขึ้น และยังส่งผลให้มีการสร้าง sebum มากขึ้น เป็นผลให้เกิดสิวมากขึ้นตามมา
งานวิจัยพบว่า การเปลี่ยนมาทานอาหารโลว์จีไอทำให้สิวลดลงเกือบ 90% ในเวลาประมาณ 10-12 สัปดาห์

✅ การดื่มนม (ไม่รวมนมปั่น) สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้

ถึงแม้ milk จัดอยู่ในกลุ่ม low glycemic index แต่มีรายงานพบว่าการดื่มนม ไม่ว่าจะเป็น whole, low-fat, skim milk ทำให้เกิดสิวมากขึ้น โดยข้อสันนิษฐานว่ามีฮอร์โมนบางชนิดในนม ทำให้เกิดการอักเสบและกระตุ้นสิวมากขึ้น
โดยปริมาณการดื่มที่ทำให้เกิดสิวนั้นยังไม่แน่ชัด จากงานวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กที่ดื่ม skim milk มากกว่า 2 แก้วต่อวัน มีสิวเยอะกว่าเพื่อนชัดเจน

✅ ผลิตภัณฑ์จากนมอย่างอื่น ยังไม่มีรายงานว่าทำให้กระตุ้นการเกิดสิว

ไม่ว่าจะเป็น โยเกิร์ต, ชีส 🧀

ยังมีอาหารอีกมากมายที่บางท่านเชื่อว่า ตนเองรับประทานแล้วทำให้สิวเห่อมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจริงหรือไม่

DERMATOLOGIST RECOMMEND….🏆🏆🏆
สิ่งที่แพทย์เฉพาะทางผิวหนังแนะนำคือ

🥇ให้ลองสังเกตว่าอาหารที่ท่านสงสัยนั้น เมื่อทานแล้วทำให้เกิดสิวมากขึ้นหรือไม่ และ ลองหยุดรับประทานอาหารเหล่านี้ดูประมาณ 1 เดือน แล้วดูว่าสิวลดลงหรือไม่ จะช่วยบอกได้คร่าว ๆ ว่า อาหารนั้น ๆ กระตุ้นสิวได้จริงหรือ

🥇 การรักษาสิวให้ถูกวิธี ไม่เพียงแต่การเลือกทานอาหารเท่านั้น ยังขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทายาสิว การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับสภาพผิว การมาติดตามการรักษาตามนัดแพทย์ เพื่อให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

Reference : https://www.aad.org/diet

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️

👩🏻‍⚕️HELLO SKIN by หมอผิวหนัง