วันนี้มาดึก ไม่เวิ่นเว้อ เริ่มเลยแล้วกันค่ะ
1. AzA มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิดปกติ (ย้ำ..!! เฉพาะเม็ดสีผิวที่ผิดปกติ) จึงสามารถใช้รักษาฝ้าและรอยดำได้ดี แต่ในคนที่เซลล์สร้างเม็ดสีผิวปกติดี และหวังผลจากการขาวขึ้นจากการใช้ AzA ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก
2. การทา 20% AzA ต่อเนื่อง 3-4 เดือน ทำให้ฝ้าจางลงได้ ใกล้เคียง 4% Hydroquinone แต่ได้ผลดีกว่า 2% Hydroquinone
3. กรณีต้องการลดรอยดำ สามารถใช้ตั้งแต่ 15% AzA ขึ้นไป
4. การทา Retinoic acid ร่วมกับ AzA สามารถเสริมฤทธิ์ช่วยลดรอยดำได้ดีกว่าการทา AzA เดี่ยว ๆ แต่ระวังการระคายเคือง
5. AzA มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการอักเสบ, ลดการอุดตันของรูขุมขน และยังช่วยในการฆ่าเชื้อสิวและเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (S.aureus, S.epidermidis) ได้ กลไกครอบคลุมขนาดนี้จึงสามารถ ใช้รักษาได้ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตันได้ทั้งคู่
6. AzA ฆ่าเชื้อ C.acne ได้ 2 กลไล คือ โดยวิธีการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโดยตรง และโดยการลดการสร้าง sebum ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อ
7. สิวที่รักษาได้ผลดี คือ สิวในระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง หากสิวหัวหนองที่รุนแรง อาจได้ผลไม่ดีนักจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังเพื่อรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย
8. การทา 20% AzA cream เช้าเย็น จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในการรักษาสิวเมื่อใช้ต่อเนื่อง 2 เดือน และหากทาต่อเนื่อง 4 เดือนขึ้นไปผลใกล้เคียงกับการทายาสิวชนิดอื่น
9. ผลการรักษาสิวอุดตันด้วย 20% AzA เทียบกับ topical 0.05% tretinoin (4 เดือน) พบว่าลดสิวอุดตันได้ใกล้เคียงกัน และผลข้างเคียงจาก AzA น้อยกว่า
10. ผลการรักษาสิวอักเสบด้วย 15% AzA เทียบกับ 5% benzyl peroxide (3-4 เดือน) พบว่าไม่ต่างกัน การใช้ BPO อาจทำให้สิวอักเสบยุบได้เร็วกว่าเล็กน้อย และพบว่ากลุ่ม BPO พบมีการระคายเคืองมากกว่า
11. ยังไม่มีรายงานเชื้อดื้อยาจากการรักษาสิวด้วย AzA จึงเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการใช้ยาทากลุ่ม topical antibiotics เช่น clindamycin, erythromycin ดังนั้น สามารถทาได้ต่อเนื่องยาวไปหากไม่มีผลข้างเคียงอะไร
12. AzA ยังมีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวอ่อน ๆ จึงได้ผลดีในการช่วยลดรอยแดงและรอยดำตามหลังการเกิดสิวได้อีกด้วย จึงทำให้สีผิวเนียนสม่ำเสมอขึ้น
13. AzA ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลด ROS ที่เกิดในชั้นผิวหนังได้ดี กลไลนี้จึงทำให้สามารถใช้รักษาภาวะ Rosacea ได้ผลดี
14. ผลข้างเคียงไม่ค่อยมาก ไม่ค่อยแพ้ และ ไม่ทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น จึงสามารถทาได้ทั้ง เช้าหรือเย็น
15. อาจมีการระคายเคือง ยุบยิบ แสบได้เล็กน้อย ในผู้ที่เริ่มใช้ช่วงแรก อาการเหล่านี้จะค่อยดีขึ้นและหายไปหลังจากผิวมีการปรับสภาพ หากแสบมากแนะนำให้เริ่มทาเป็นบางบริเวณ หรือทาแล้วล้างออก ค่อยเพิ่มระยะเวลามากขึ้น จนสามารถทาทิ้งไว้ได้
16. การใช้รูปแบบทา 15-20% AzA พบว่าดูดซึม <4% จึงค่อนข้างปลอดภัย ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่มีปัญหาสิวหรือฝ้าในระหว่างนี้
17. การทาครีมกันแดดร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้การรักษาฝ้าได้ผลดียิ่งขึ้น
18. สามารถใช้ต่อเนื่องได้ยาว ๆ หากไม่มีข้อห้ามหรือผลข้างเคียงจากการใช้ และสามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เพียงระวังเรื่องการระคายเคืองที่อาจมากขึ้น และเว้นระยะห่างการทาจากกลุ่ม Vitamin C หรือ AHA, BHA เนื่องด้วยเรื่องของ pH
ฟังไปฟังมาเหมือนจะได้ผลดีไปหมด ทั้งสิวอุดตัน สิวอักเสบ รอยแดง รอยดำ ฝ้า หน้าแดง หน้าก็เนียนใส ครอบจักรวาลจริงเหรอนี่
แต่ ๆๆๆๆๆๆ ….. อย่าลืมว่า ‼️

• ถึงแม้ฤทธิ์ในการรักษาจะค่อนข้างครอบคลุมหลายภาวะหลายกลไก แต่จัดว่า ออกฤทธิ์ไม่แรงมาก จึงเหมาะกับคนที่มีปัญหาผิวหลายอย่างปะปนกันแต่เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก
• จะเห็นผลที่กล่าวมาข้างต้นได้ชัดเจนดีที่สุดตามงานวิจัย หากเมื่อใช้ในรูปแบบยา 20% azelaic acid
• หากบางท่านมีอาการระคายเคือง อาจลองใช้ในกลุ่มที่ผสมใน Dermocosmetics หรือเครื่องสำอาง ก็อาจได้ผล แต่อาจต้องใช้ความเข้มข้น 15-20% และต้องใช้ต่อเนื่องค่อนข้างนานกว่า ซึ่ง AzA ในเค้าเตอร์แบรนด์มีหลายยี่ห้อที่ได้ผลดีค่ะ มีทั้งเจล ครีม โลชั่น 🧴
ถ้ามีคนอยากรู้เยอะ -> พิมพ์อยากรู้ เดี๋ยวหาข้อมูลมาให้เพิ่มเติมค่ะ
อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะเหล่านี้ ตามแนวทางการรักษาอาจต้องใช้ยาหลายอย่างร่วมกันจึงจะได้ผลดีที่สุด หมอก็แนะนำว่า… หากอยากลองทาก็จัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ที่หาซื้อได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเป็นสิว ฝ้า จริงหรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง (Board-certified Dermatologist) เพื่อร่วมดูแลค่ะ
▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References
J Clin Aesthet Dermatol. 2018; 11(2): 28-37.
Br J Dermatol. 2013; 169 Suppl 3:4-56.
J Cosmet Dermatol. 2011; 10(4): 282-287.
J Drugs Dermatol. 2011; 10(6): 586-90.
Drugs 41(5): 780-798.
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.