Tag Archives: Dermatology

10 คำถามเรื่อง Thiamidol & ฝ้าและการสร้างเม็ดสีผิว ‼️

หากพูดถึงเรื่องเดอโมคอสเมติกส์ที่ช่วยเรื่องฝ้าหรือรอยดำจากสิว หลายคนคงรู้จักไทอามิดอลกันมาพอสมควร วันนี้เลยรวบรวม Q&A มา 10 ข้อที่น่าสนใจ

Q1 : เป็นฝ้ามียาทาอะไรใช้รักษาได้บ้าง❓

A : 1st line ของยาทารักษาฝ้า คือ Hydroquinone ซึ่งถือเป็น gold standard แต่ถ้าหากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมากและเกิดฝ้าถาวร (Ochronosis) ได้ ปัจจุบันจึงถือว่า Hydroquinone เป็นยาที่ต้องควบคุมการสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อาจมีบางประเทศที่กฏหมายอนุญาตให้ผสมในเครื่องสำอางได้ไม่เกิน 2%
ส่วนยาทาอื่น ๆ ที่ใช้ในการรักษาฝ้า เช่น topical retinoid, azelaic acid, topical methimazole เป็นต้น

Q2 : หากไม่อยากใช้กลุ่มยา มีกลุ่ม Dermocosmetics หรือสกินแคร์ตัวอื่นอีกไหมที่ช่วยเรื่องฝ้าได้ ❓

A : มีค่ะ อาจลองมองหาส่วนประกอบเหล่านี้
✔️ กลุ่มยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส เช่น arbutin 3%/deoxyarbutin, tranexamic acid 2-5%, licorice, kojic acid, ascorbic acid, resorcinol, thiamidol
✔️ กลุ่มยับยั้งการขนส่งเมลานินไปที่ผิวหนังชั้นบน (Melanin transfer inhibition) เช่น niacinamide 4%, soybean
✔️ กลุ่มเร่งการผลัดเซลล์เม็ดสีส่วนเกินที่ผิวชั้นบน (Increased epidermal turnover) เช่น glycolic acid, salicylic acid
นอกจากนั้นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วยเสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเข้มขึ้นของฝ้า

Q3 : แล้ว Thiamidol ล่ะคืออะไร ❓

A : Thiamidol หรือ Isobutylamido thiazolyl resorcinol เป็นสารนวัตกรรมตัวใหม่ ที่ออกฤทธิ์ในกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว โดยไปยับยั้งที่ Tyrosinase enzyme นับว่าเป็นสารทางเลือกอันดับต้น ๆ ของคนที่กำลังมองหาสกินแคร์ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝ้า, รอยดำสิว หรือคนที่อยากบำรุงผิวให้ดูกระจ่างใสขึ้น สารนี้มีงานวิจัยรองรับตีพิมพ์ใน Journal of Investigative Dermatology 2018 ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการทำวิจัยใน Human tyrosinase ก็ถือว่าเทียบเท่าได้กับการทดลองทาผิวมนุษย์ในชีวิตจริง

Q4 : เมื่อเทียบประสิทธิภาพของไทอามิดอล กับสกินแคร์ที่ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ตัวอื่นแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ❓

A : ปัจจุบันมีสกินแคร์กลุ่ม Tyrosinase inhibitor ที่ไม่ใช่ยาอยู่หลายตัว เมื่อเทียบผลการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ของ Thiamidol กับสารอื่น ๆ ก็พบว่าไทอามิดอล
💯 ดีกว่า Butylresorcinol 10 เท่า
💯 ดีกว่า Kojic 1,000 เท่า
💯 ดีกว่า Arbutin 10,000 เท่า
จะเห็นว่าไทอามิดอลค่อนข้างจะเป็น Potent Tyrosinase Inhibitor ที่ออกฤทธิ์ในกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวได้ค่อนข้างดี

Q5 : Thiamidol ใช้กับผิวคนไทยได้ไหม ❓

A : ได้ค่ะ มีงานวิจัยในผิวคนไทยพบว่า Thiamidol สามารถใช้ได้ผลในการรักษา ดังนี้
💯 ฝ้าที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate melasma)
💯 กระ (freckles)
💯 กระแดด (solar lentigines)
โดยพบว่า ได้ผลดีกว่า “4% Arbutin + 2% Hydroquinone” ในเวลา 8-12 สัปดาห์

Q6 : อยากผิวขาวขึ้น Thiamidol ช่วยได้ไหม ❓

A : Thiamidol มีงานวิจัยรับรองว่า lightening index ลดลง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงผิวขาวใสขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าสีผิวของมนุษย์ถูกยีนกำหนดมาแล้ว ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม lightening และกันแดดอย่างดีก็อาจทำให้ผิวขาวขึ้นได้เพียง 1-2 ระดับเท่านั้นเมื่อเทียบกับพื้นสีผิวของแต่ละคน สามารถดูได้ที่หน้าท้อง หน้าอก ก้น หรือบริเวณที่ไม่ค่อยถูกแดดค่ะ

Q7 : ไม่อยากคล้ำหลังเที่ยวทะเล สามารถทา Thiamidol ป้องกันได้ไหม ❓

A : มีข้อมูลพบว่าสามารถช่วยป้องกัน UVB induced hyperpigmentation ได้ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าหากทาผิวทุกวัน 1-2 สัปดาห์ก่อนไปออกแดดจัด เช่น ก่อนไปเที่ยวทะเล จะช่วยป้องกันการเกิดผิวคล้ำหลังโดนแดด ได้ดีกว่าการไม่ทา (Downregulation of tyrosinase activity in melanocyte)

Q8 : ใช้ Thiamidol นาน ๆ จะเกิดฝ้าถาวรไหม ❓

A : ที่ผ่านมายังไม่มีรายงานของผลข้างเคียงเรื่อง ฝ้าถาวร (Ochronosis) ซึ่งมักพบจากการใช้ hydroquinone แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากไทอามิดอลเป็นนวัตกรรมใหม่ คงต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป มีข้อมูลอัพเดทเรื่องการใช้ Thiamidol ทาเพื่อลดฝ้าที่ความรุนแรงมาก นานต่อเนื่อง 6 เดือน ก็พบว่าไม่มีผลข้างเคียง อีกทั้งฝ้ารุนแรงสามารถจางลงชัดเจนและหลังหยุดใช้ 3 เดือนก็ยังไม่กลับมาเข้มขึ้นเท่าเดิม

Q9 : คนท้องมีฝ้า ใช้ Thiamidol ได้ไหม ❓

A : ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงในคนท้อง และเนื่องจากไทอามิดอลจัดเป็นกลุ่มเดอโมคอสเมติก ซึ่งความปลอดภัยค่อนข้างสูงและผลข้างเคียงน้อย เพราะไม่มีการดูดซึมของสารเข้าสู่กระแสเลือด ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้พิจารณา

Q10 : Thiamidol มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ❓

A : Thiamidol (PATENTED) คิดค้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ สถาบัน Beiersdorf Germany สารนี้เป็นส่วนผสมหลักอยู่ในผลิตภัณฑ์ของยูเซอรีนหลายรุ่น ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวล่าสุด คือ “Spotless Booster Serum” เป็นตัวที่อัพเกรดเทคโนโลยีต่อยอดจากรุ่นเดิม [ขวดหลอดคู่ Double Booster Serum] โดยใช้เทคนิค Micro targeted Technology เพื่อเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มี Hyaluron โมเลกุลขนาดเล็กกว่า 40 เท่า เป็นตัวพาสาร Thiamidol ลงสู่ผิวชั้นลึกได้ดีขึ้น

Bottom Line

การใช้ยาทาภายนอก ถือเป็นการรักษาหลักของการรักษาฝ้า
เดอร์โมคอสเมติกส์เป็นอีกทางเลือก ในคนที่ไม่อยากใช้ยา ซึ่งค่อนข้างปลอดภัย ออกฤทธิ์ได้ถึงผิวชั้นลึกได้ดีกว่าคอสเมติกส์ ผลข้างเคียงน้อย แต่ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่ายา
• ถ้าหากยังได้ผล แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังพิจารณาเพิ่มเติมการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยารับประทาน หัตถการต่าง ๆ และเลเซอร์
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาฝ้าให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อให้ฝ้าจางลงได้ การรักษาฝ้าให้ได้ผลดีควรต้องควบคู่ไปกับการปกป้องผิวจากแสงแดดอย่างถูกวิธี และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน ยาบางชนิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ้ากลับมาเข้มขึ้นอีก

มีใครเคยลองใช้ไทอามิดอลแล้วบ้างไหมคะ เป็นอย่างไรบ้างชวนมาแชร์ประสบการณ์กันค่ะ ?


References

  1. Inhibition of Human Tyrosinase Requires Molecular Motifs Distinctively Different from Mushroom Tyrosinase Journal of Investigative Dermatology 2018; 138: 1601-1608.
  2. An updated review of tyrosinase inhibitors. Int J Mol Sci 2009; 26(10): 2440-75.
  3. Mechanism of depigmentation by hydroquinone. J Invest Dermatol 1974; 62: 436-49.
  4. Effective Tyrosinase Inhibition by Thiamidol Results in Significant Improvement of Mild to Moderate Melasma Journal of Investigative Dermatology 2019 doi:10.1016/j.jid.2019.02.013
  5. Thiamidol containing treatment regimens in facial hyperpigmentation: An international multi-centre approach consisting of a double-blind, controlled, split-face study and of an open-label, real-world study. International Journal of Cosmetic Science. 2020; 42: 377–387. doi: 10.1111/ics.12626
  6. Isobutylamido thiazolyl resorcinol for prevention of UVB-induced hyperpigmentation. J Cosmet Dermatol. 2020; 00: 1–6.
  7. 7. 24 weeks long-term efficacy and tolerability of a skin care regimen with Thiamidol in patients with moderate to severe facial hyperpigmentation Roongenkamo et al. EADV2020.

Product mentioned
Eucerin Spotless Brightening Booster Serum

(พัฒนาจาก Double Booster Serum รุ่นก่อน)
ส่วนประกอบหลัก :
✔️ Thiamidol เป็น The Powerful Human Tyrosinase Inhibitor
✔️ Hyarulonic acid small molecule ช่วยนำพาสาร Thiamidol ซึมลงสู่ผิวชั้นลึกได้ดีขึ้น
✔️ Licochalcone A ช่วยลดการอักเสบ ลดการหลั่ง endothelin จาก endothelial cell เสริมการทำงาน ช่วยลดเรื่องการเกิด hyperpigmentation
เทคโนโลยี Micro Targeted : เพื่อเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และจัดการฝ้า จุดด่างดำได้ดีกว่าเดิม ผิวแลดูกระจ่างใสขึ้น 2 สัปดาห์
เนื้อสัมผัส : บางเบา ซึมง่ายขึ้น
บรรจุภัณฑ์ : สะดวกต่อการใช้งาน หัวปั๊มกดง่ายขึ้น

Disclaimer : Sponsored Content by Eucerin

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

วิธีป้องกันเลือดออกหัวนม..นักวิ่งหรือนักปั่น

อาการนี้เกิดจากการ เสียดสีของหัวนมกับเสื้อวิ่ง ทำให้เกิดแผลจากการระคายเคือง มีอาการเจ็บหรือปวดแสบได้เพราะหัวนมเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยงเยอะ

ความรุนแรงไม่เกี่ยวกับนมเล็กหรือใหญ่ ไม่เกี่ยวกับเพศหญิงหรือชาย มีรายงานว่าเจอได้บ่อยในคนที่ วิ่งระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร/สัปดาห์

วันนี้ขอแนะนำวิธีป้องกันเลือดออกหัวนม

1. สวมเสื้อเส้นใยละเอียด ไม่หยาบกระด้าง ซึ่งปกติผ้าใยสังเคราะห์จะระคายเคืองน้อยกว่าผ้าใยธรรมชาติ

2. ทาวาสลีนที่หัวนมก่อนวิ่ง

3. ไม่สวมเสื้อหลวมเกินไป หรืออาจใส่สปอร์ตบราก็ช่วยได้

4. ใช้พลาสเตอร์แปะหัวนม อาจใช้พวกซิลิโคนหรือแบบผ้าที่ค่อนข้างเหนียว วิธีนี้อาจหลุดได้ถ้าหากมีเหงื่อออกในระหว่างวิ่ง

5. สุดท้าย ถอดเสื้อวิ่ง หรือ เจาะรูดังภาพ สามารถช่วยลดการเสียดสีได้ แต่ในเพศหญิงอาจไม่เหมาะกับวิธีนี้เท่าไหร่นัก

วิธีป้องกันเลือดออกหัวนมนักวิ่ง​
วิธีป้องกันเลือดออกหัวนมนักวิ่ง

หัวนมนักวิ่งบอบบางกว่าที่คิด หากเรารู้วิธีป้องกันให้ดี ก็จะสามารถวิ่งออกกำลังกายได้ยาววววๆๆๆไป
หากเกิดความผิดปกติดังภาพ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังร่วมดูแล

ใครเคยเป็นบ้าง มีเสื้อผ้าดี ๆ มาแนะนำมาเล่าให้ฟังได้

หากคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถกดเลิฟกดแชร์ให้เพื่อนอ่านได้เลยค่าา ❤️

——————————————

อ่านบทความย้อนหลังที่ https://helloskinderm.com

รวมลิ้งค์ https://opl.to/drwarayuwadee

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ไขความลับ 18 ข้อของ Azelaic acid

วันนี้มาดึก ไม่เวิ่นเว้อ เริ่มเลยแล้วกันค่ะ

1. AzA มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิดปกติ (ย้ำ..!! เฉพาะเม็ดสีผิวที่ผิดปกติ) จึงสามารถใช้รักษาฝ้าและรอยดำได้ดี แต่ในคนที่เซลล์สร้างเม็ดสีผิวปกติดี และหวังผลจากการขาวขึ้นจากการใช้ AzA ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก

2. การทา 20% AzA ต่อเนื่อง 3-4 เดือน ทำให้ฝ้าจางลงได้ ใกล้เคียง 4% Hydroquinone แต่ได้ผลดีกว่า 2% Hydroquinone

3. กรณีต้องการลดรอยดำ สามารถใช้ตั้งแต่ 15% AzA ขึ้นไป

4. การทา Retinoic acid ร่วมกับ AzA สามารถเสริมฤทธิ์ช่วยลดรอยดำได้ดีกว่าการทา AzA เดี่ยว ๆ แต่ระวังการระคายเคือง

5. AzA มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการอักเสบ, ลดการอุดตันของรูขุมขน และยังช่วยในการฆ่าเชื้อสิวและเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (S.aureus, S.epidermidis) ได้ กลไกครอบคลุมขนาดนี้จึงสามารถ ใช้รักษาได้ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตันได้ทั้งคู่

6. AzA ฆ่าเชื้อ C.acne ได้ 2 กลไล คือ โดยวิธีการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโดยตรง และโดยการลดการสร้าง sebum ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อ

7. สิวที่รักษาได้ผลดี คือ สิวในระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง หากสิวหัวหนองที่รุนแรง อาจได้ผลไม่ดีนักจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังเพื่อรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย

8. การทา 20% AzA cream เช้าเย็น จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในการรักษาสิวเมื่อใช้ต่อเนื่อง 2 เดือน และหากทาต่อเนื่อง 4 เดือนขึ้นไปผลใกล้เคียงกับการทายาสิวชนิดอื่น

9. ผลการรักษาสิวอุดตันด้วย 20% AzA เทียบกับ topical 0.05% tretinoin (4 เดือน) พบว่าลดสิวอุดตันได้ใกล้เคียงกัน และผลข้างเคียงจาก AzA น้อยกว่า

10. ผลการรักษาสิวอักเสบด้วย 15% AzA เทียบกับ 5% benzyl peroxide (3-4 เดือน) พบว่าไม่ต่างกัน การใช้ BPO อาจทำให้สิวอักเสบยุบได้เร็วกว่าเล็กน้อย และพบว่ากลุ่ม BPO พบมีการระคายเคืองมากกว่า

11. ยังไม่มีรายงานเชื้อดื้อยาจากการรักษาสิวด้วย AzA จึงเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการใช้ยาทากลุ่ม topical antibiotics เช่น clindamycin, erythromycin ดังนั้น สามารถทาได้ต่อเนื่องยาวไปหากไม่มีผลข้างเคียงอะไร

12. AzA ยังมีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวอ่อน ๆ จึงได้ผลดีในการช่วยลดรอยแดงและรอยดำตามหลังการเกิดสิวได้อีกด้วย จึงทำให้สีผิวเนียนสม่ำเสมอขึ้น

13. AzA ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลด ROS ที่เกิดในชั้นผิวหนังได้ดี กลไลนี้จึงทำให้สามารถใช้รักษาภาวะ Rosacea ได้ผลดี

14. ผลข้างเคียงไม่ค่อยมาก ไม่ค่อยแพ้ และ ไม่ทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น จึงสามารถทาได้ทั้ง เช้าหรือเย็น

15. อาจมีการระคายเคือง ยุบยิบ แสบได้เล็กน้อย ในผู้ที่เริ่มใช้ช่วงแรก อาการเหล่านี้จะค่อยดีขึ้นและหายไปหลังจากผิวมีการปรับสภาพ หากแสบมากแนะนำให้เริ่มทาเป็นบางบริเวณ หรือทาแล้วล้างออก ค่อยเพิ่มระยะเวลามากขึ้น จนสามารถทาทิ้งไว้ได้

16. การใช้รูปแบบทา 15-20% AzA พบว่าดูดซึม <4% จึงค่อนข้างปลอดภัย ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่มีปัญหาสิวหรือฝ้าในระหว่างนี้

17. การทาครีมกันแดดร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้การรักษาฝ้าได้ผลดียิ่งขึ้น

18. สามารถใช้ต่อเนื่องได้ยาว ๆ หากไม่มีข้อห้ามหรือผลข้างเคียงจากการใช้ และสามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เพียงระวังเรื่องการระคายเคืองที่อาจมากขึ้น และเว้นระยะห่างการทาจากกลุ่ม Vitamin C หรือ AHA, BHA เนื่องด้วยเรื่องของ pH

ฟังไปฟังมาเหมือนจะได้ผลดีไปหมด ทั้งสิวอุดตัน สิวอักเสบ รอยแดง รอยดำ ฝ้า หน้าแดง หน้าก็เนียนใส ครอบจักรวาลจริงเหรอนี่
แต่ ๆๆๆๆๆๆ ….. อย่าลืมว่า ‼️

Azelaic acid

• ถึงแม้ฤทธิ์ในการรักษาจะค่อนข้างครอบคลุมหลายภาวะหลายกลไก แต่จัดว่า ออกฤทธิ์ไม่แรงมาก จึงเหมาะกับคนที่มีปัญหาผิวหลายอย่างปะปนกันแต่เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก
• จะเห็นผลที่กล่าวมาข้างต้นได้ชัดเจนดีที่สุดตามงานวิจัย หากเมื่อใช้ในรูปแบบยา 20% azelaic acid
• หากบางท่านมีอาการระคายเคือง อาจลองใช้ในกลุ่มที่ผสมใน Dermocosmetics หรือเครื่องสำอาง ก็อาจได้ผล แต่อาจต้องใช้ความเข้มข้น 15-20% และต้องใช้ต่อเนื่องค่อนข้างนานกว่า ซึ่ง AzA ในเค้าเตอร์แบรนด์มีหลายยี่ห้อที่ได้ผลดีค่ะ มีทั้งเจล ครีม โลชั่น 🧴

ถ้ามีคนอยากรู้เยอะ -> พิมพ์อยากรู้ เดี๋ยวหาข้อมูลมาให้เพิ่มเติมค่ะ

อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะเหล่านี้ ตามแนวทางการรักษาอาจต้องใช้ยาหลายอย่างร่วมกันจึงจะได้ผลดีที่สุด หมอก็แนะนำว่า… หากอยากลองทาก็จัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ที่หาซื้อได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเป็นสิว ฝ้า จริงหรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง (Board-certified Dermatologist) เพื่อร่วมดูแลค่ะ

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References
J Clin Aesthet Dermatol. 2018; 11(2): 28-37.
Br J Dermatol. 2013; 169 Suppl 3:4-56.
J Cosmet Dermatol. 2011; 10(4): 282-287.
J Drugs Dermatol. 2011; 10(6): 586-90.
Drugs 41(5): 780-798.


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ครีมยูเรีย..ทาหน้าได้ไหม ?

ครีมยูเรีย พูดชื่อแล้วบางคนอาจจะงง แต่ถ้าบอกว่า ครีมไดอะบีเดิร์ม, ศิริราชซอฟแคร์, ยูเซอรีนยูเรียรีแพร์ บลาๆๆ.. หลายคนคงร้องอ๋อออ

อีกคำถามที่ถูกถามมาเยอะว่า “ครีมยูเรีย..ใช้ทาที่หน้าได้มั้ย” สรุปง่าย ๆ ตามนี้เลย

ครีมยูเรีย urea cream moisturizer

ยูเรียเป็นส่วนประกอบหนึ่งในผิวหนัง

พบได้ประมาณ 7% ของ NMF (Natural Moisturizing Factor) ซึ่งอยู่ที่ผิวหนังชั้นกำพร้าของเรา ส่วนนี้จะทำหน้าที่ปกป้องผิว กักเก็บความชุ่มชื้น เพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้แก่ผิว

ปริมาณของ urea ใน NMF จะลดลงไปตามอายุ ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

• หาก NMF ไม่สมบูรณ์ ผลคือ สูญเสียน้ำ เสียความยืดหยุ่น ทำให้ผิวแห้งกร้าน ลอก ในที่สุด

• ปัจจุบันที่การนำ urea มาผสมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ครีม, โลชั่น, โฟม, อิมัลชั่น ประมาณ 5-20%

รายงานผลข้างเคียงจากการใช้น้อยมาก เรียกได้ว่าค่อนข้างปลอดภัย

ความเข้มข้นที่ต่างกันออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน

• หากต่ำกว่า 10% จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizing effect) จึงมักใช้ในพวกผิวแห้ง เช่น Xerosis, Ictyosis, Atopic dermatitis, Psoriasis
• หากเกิน 10% ขึ้นไป จะออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว (Keratolytic effect) มักใช้ในรอยโรคผิวหนังที่หนา เช่น Psoriasis ที่เป็นเยอะ หรือ ใช้กับที่เล็บ, รักษาหูด, ตาปลา ส้นเท้าหนาแตกด้าน

ดังนั้น การที่ครีมบางชนิดมี ความเข้มข้นมากขึ้นไม่ได้แปลว่าจะต้องดีกว่าเสมอไป ควรเลือกให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น หากนำ 20% มาใช้กรณีผิวแห้ง ก็อาจทำให้รอยโรคแย่ลงได้จากการผลัดลอกเซลล์ผิวมากขึ้นกว่าเดิม

ครีมยูเรียสามารถใช้ทาเดี่ยว ๆ เพื่อรักษาโรคทางผิวหนัง หรือทาเพื่อเพิ่มการดูดซึมของยาตัวอื่นได้

เช่น
• 10% urea ร่วมกับ hydrocortisone หรือ betamethasone-17-valerate ในการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
• 10% urea ร่วมกับ 1% hydrocotisone, 2% salicylic acid ในการรักษาโรคผิวแห้ง Ictyosis vulgaris
• 10-40% urea ร่วมกับ dithranol หรือ bifonazole ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
• 40% urea ร่วมกับ 1% fluconazole ในการรักษาเชื้อราที่เล็บ

สรุปยูเรียถึงแม้จะค่อนข้างปลอดภัยไม่ค่อยมีรายงานผลข้างเคียง แต่มีข้อควรระวัง

• ใช้กับโรคผิวหนังเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวและช่วยให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออก ไม่ควรซื้อมาทาเล่นโดยไม่มีข้อบ่งชี้
• ระคายเคืองได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการทาในที่ผิวบอบบาง เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ รวมทั้งใบหน้า ยกเว้นหากรอยโรคหนาที่หน้าอาจใช้ได้ชั่วคราว และควรใช้ความเข้มข้นต่ำ ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องนาน และหยุดทาเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว
• หญิงตั้งครรภ์ เลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก ป้องกันเวลาลูกกินนม เพราะยังไม่มีรายงานชัดเจนถึงความปลอดภัยในระหว่างให้นมบุตร
• หลีกเลี่ยงการทาในแผลเปิด
• บางรายสามารถแพ้ยูเรียได้ หากใช้แล้วมีผื่นคัน หรืออาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

ครีมยูเรีย ประโยชน์มากมายและใช้ได้ผลค่อนข้างดี แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็เกิดผลเสียตามมา โรคผิวหนังนั้นอาจแย่ลง ก่อนซื้อมาใช้เองควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอว่ารอยโรคนั้น ๆ มีข้อบ่งชี้สำหรับครีมยูเรียหรือไม่ อย่าลืมว่า..เหรียญมีสองด้านนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี

——————————————

Reference
Topical urea in skincare: A review
Dermatilogy Therapy 2018; e12690.

——————————————

อ่านบทความที่ www.helloskinderm.com

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.