ซิลิโคนเจลชนิดทา..มีวิธีเลือกใช้อย่างไรดี

วันนี้มีคนไข้ที่ตัดไฝและนัดมาตัดไหมหลายคนเลย ทุกคนถามด้วยคำถามเดียวกันว่า ทาอะไรป้องกันแผลเป็นนูนได้บ้างคะ/ครับคุณหมอ ‼️

หมอเคยเขียนเรื่อง #การรักษาแผลเป็นนูนคีลอยด์ ไปแล้วก่อนนี้ สามารถกลับไปทบทวนได้ค่ะ ในลิ้งค์นี้เลย
https://www.facebook.com/476743752739537/posts/959204974493410/?extid=0&d=n

วันนี้เลยจะมาเล่าเพิ่มเติมนิดหน่อยว่า กรณีที่เกิดแผล แกะสิว หรือ หลังทำเลเซอร์ หลังผ่าตัด เราจะใช้ซิลโคนเจลอย่างไรดีเพื่อ ลดโอกาสการเกิดแผลเป็นนูนคีลอยด์ได้ในอนาคต

1. วิธีที่สามารถดูแลตัวเองเองเบื้องต้นที่บ้านได้สะดวกและปลอดภัยที่สุด คือ การทาหรือแปะแผ่นซิลิโคนเจล
ดังนั้น หากลองแล้วประมาณ 2-3 เดือน ไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อพิจารณาปรับการรักษาวิธีอื่นตามความเหมาะสม

2. ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาแผลเป็นนูนคีลอยด์ที่ได้ผลดีที่สุด การใช้หลายวิธีร่วมกันก็ยังคงเป็นสิ่งที่แนะนำเสมอ ร่วมกับ การรักษาแผลอย่างถูกวิธี
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ ระวังการเกิดบาดแผลโดยเฉพาะบริเวณที่มักเกิดแผลเป็นนูนได้บ่อย เช่น หน้าอก ไหล่ หลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นสิวและชอบแกะเกา เป็นต้น

3. ซิลิโคนเจล สามารถใช้แบบชนิดทา หรือ แบบแผ่นแปะก็ได้ หากใช้อย่างถูกวิธีจะได้ผลการรักษาใกล้เคียงกัน แบบชนิดทาจะช่วยลดอาการคันได้ดีกว่าแบบแปะนิดหน่อย แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ใช้อะไรก็ได้ตามความสะดวก แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี

4. กลไกป้องกันและรักษาแผลเป็นนูนคีลอยด์ของซิลิโคนเจล คือ เพิ่มความชื้นและลดการระเหยน้ำจากแผลเป็นคีลอยด์ ช่วยลดการทำงานของไฟโบรบลาส ลดการสร้างคอลลาเจนที่ผิดปกติ ทำให้แผลเป็นนุ่มขึ้นและแบนราบขึ้น
ดังนั้น การใช้ซิลิโคนเจล จึงแนะนำให้ทาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-12 เดือนหลังแผลหาย เพราะถึงแม้ผิวด้านบนดูสมานดี แต่ด้านล่างยังคงมีกระบวนการซ่อมแซมผิวอย่างต่อเนื่องอยู่

5. การใช้ซิลิโคนแบบแผ่นแปะให้ได้ผล ควรแปะแผ่นซิลิโคนเจลต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมง นานอย่างน้อย 6-12 เดือน ขึ้นกับงานวิจัย และเลือกแปะบริเวณที่สะดวก เลื่อนหลุดได้ยากหน่อย เช่น หลัง อก เป็นต้น
ดังนั้น บริเวณที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น มือ เข่า ศอก หรือบริเวณใบหน้าที่ต้องคำนึงถึงความสวยงามร่วมด้วย ก็อาจไปใช้ชนิดทาจะเหมาะสมกว่า

6. การใช้ซิลิโคนเจลรูปแบบทา ให้เริ่มทาตั้งแต่ตอนที่แผลแห้งและปิดสนิทมีสีชมพู หรือหลังตัดไหมแล้ว โดยทาเช้าเย็น ปาดครั้งเดียว ไม่ต้องถูไปมา หลังทาแล้วจะแห้งเหมือนฟิล์มบาง ๆ เคลือบผิวไว้
ดังนั้น แนะนำว่าหลังทาแล้วควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 3-5 นาที ก่อนจะแต่งหน้าหรือใส่เสื้อผ้าทับ เพื่อป้องกันการลอกหลุดของเจล และหากเวลารีบด่วนอาจใช้ไดร์หรือพัดลมเป่าช่วยแห้งเร็วขึ้นได้

7. ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลแผลเป็นในซิลิโคนเจล ได้ก็อย่างเช่น
Vitamin C : ช่วยปรับสีของแผลเป็นให้จางลง
Vitamin E : ช่วยลดการอักเสบและสมานแผล แผลนุ่มชุ่มชื้น
Moisturizer : ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิวเพื่อรักษารอยแผลเป็นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น glycerin, allantoin
ดังนั้น ลองเลือกดูตามความเหมาะสม

8. ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลุ่มที่เป็น ซิลิโคนเจลที่ใช้ได้มีหลายยี่ห้อ เช่น

Strataderm & Stratamed
มี Polydimethylsikoxanes, Slioxanas, Alkylmethyl Silicones
Hiruscar Silicone Pro
มี MPS, VitC
Smooth E Scar Silicone Gel
มี Cyclopentaxyloxane, dimethicone
Dermatix Ultra
มี Cyclopentaxyloxane, VitC
Provamed Scar Silicone
มี Cyclopentaxyloxane (CPX), vitC, vitE
Vitara Ultra Silicone gel
มี Cyclopentaxyloxane (CPX), vitC, vitE
Kelosil Silicone Scar gel
มี Dimethylpolysiloxane (DPX) และ Cydopentasiloxane (CPX), VitC
Actewound SI silicone gel
มี Cyclopentasiloxane, Polydimethylsiloxane
Clenascar silicone gel
มี Cyclopentaxyloxane (CPX), vitC

9. การทาซิลิโคนเจลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันและรักษาแผลเป็นนูนคีลอยด์ที่สามารถทำได้เองไม่ยากในระยะเริ่มแรก อาจลองเลือกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ดูตามความชอบเนื้อสัมผัส, ส่วนผสมอื่นเพิ่มเติม รวมทั้งงบประมาณของแต่ละบุคคล และโดยส่วนใหญ่หากแผลเป็นมานานเกิน 6 เดือนขึ้นไป มักไม่ค่อยได้ผลกับการรักษาด้วยวิธีนี้
ดังนั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมต่อไปค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลสุขภาพผิวเวลาเกิดบาดแผล และโดยเฉพาะคนที่มีประวัติการเป็นแผลเป็นนูนมาก่อน ถ้าชอบบทความนี้อย่าลืม #พิมพ์หัวใจสีเขียว 💚 เป็นกำลังใจให้ตามระดับความชอบด้วยค่ะ

– No Sponsored Content –

Reference
J Clin Aesthet Dermatol. 2020;13(2):33–43.
J Cutan Aesthet Surg. 2009 Jul-Dec; 2(2): 104–106.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s