ครีมยูเรีย พูดชื่อแล้วบางคนอาจจะงง แต่ถ้าบอกว่า ครีมไดอะบีเดิร์ม, ศิริราชซอฟแคร์, ยูเซอรีนยูเรียรีแพร์ บลาๆๆ.. หลายคนคงร้องอ๋อออ
อีกคำถามที่ถูกถามมาเยอะว่า “ครีมยูเรีย..ใช้ทาที่หน้าได้มั้ย” สรุปง่าย ๆ ตามนี้เลย

ยูเรียเป็นส่วนประกอบหนึ่งในผิวหนัง
พบได้ประมาณ 7% ของ NMF (Natural Moisturizing Factor) ซึ่งอยู่ที่ผิวหนังชั้นกำพร้าของเรา ส่วนนี้จะทำหน้าที่ปกป้องผิว กักเก็บความชุ่มชื้น เพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้แก่ผิว
ปริมาณของ urea ใน NMF จะลดลงไปตามอายุ ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
• หาก NMF ไม่สมบูรณ์ ผลคือ สูญเสียน้ำ เสียความยืดหยุ่น ทำให้ผิวแห้งกร้าน ลอก ในที่สุด
• ปัจจุบันที่การนำ urea มาผสมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ครีม, โลชั่น, โฟม, อิมัลชั่น ประมาณ 5-20%
รายงานผลข้างเคียงจากการใช้น้อยมาก เรียกได้ว่าค่อนข้างปลอดภัย
ความเข้มข้นที่ต่างกันออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน
• หากต่ำกว่า 10% จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizing effect) จึงมักใช้ในพวกผิวแห้ง เช่น Xerosis, Ictyosis, Atopic dermatitis, Psoriasis
• หากเกิน 10% ขึ้นไป จะออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว (Keratolytic effect) มักใช้ในรอยโรคผิวหนังที่หนา เช่น Psoriasis ที่เป็นเยอะ หรือ ใช้กับที่เล็บ, รักษาหูด, ตาปลา ส้นเท้าหนาแตกด้าน
ดังนั้น การที่ครีมบางชนิดมี ความเข้มข้นมากขึ้นไม่ได้แปลว่าจะต้องดีกว่าเสมอไป ควรเลือกให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น หากนำ 20% มาใช้กรณีผิวแห้ง ก็อาจทำให้รอยโรคแย่ลงได้จากการผลัดลอกเซลล์ผิวมากขึ้นกว่าเดิม
ครีมยูเรียสามารถใช้ทาเดี่ยว ๆ เพื่อรักษาโรคทางผิวหนัง หรือทาเพื่อเพิ่มการดูดซึมของยาตัวอื่นได้
เช่น
• 10% urea ร่วมกับ hydrocortisone หรือ betamethasone-17-valerate ในการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
• 10% urea ร่วมกับ 1% hydrocotisone, 2% salicylic acid ในการรักษาโรคผิวแห้ง Ictyosis vulgaris
• 10-40% urea ร่วมกับ dithranol หรือ bifonazole ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
• 40% urea ร่วมกับ 1% fluconazole ในการรักษาเชื้อราที่เล็บ
สรุปยูเรียถึงแม้จะค่อนข้างปลอดภัยไม่ค่อยมีรายงานผลข้างเคียง แต่มีข้อควรระวัง
• ใช้กับโรคผิวหนังเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวและช่วยให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออก ไม่ควรซื้อมาทาเล่นโดยไม่มีข้อบ่งชี้
• ระคายเคืองได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการทาในที่ผิวบอบบาง เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ รวมทั้งใบหน้า ยกเว้นหากรอยโรคหนาที่หน้าอาจใช้ได้ชั่วคราว และควรใช้ความเข้มข้นต่ำ ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องนาน และหยุดทาเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว
• หญิงตั้งครรภ์ เลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก ป้องกันเวลาลูกกินนม เพราะยังไม่มีรายงานชัดเจนถึงความปลอดภัยในระหว่างให้นมบุตร
• หลีกเลี่ยงการทาในแผลเปิด
• บางรายสามารถแพ้ยูเรียได้ หากใช้แล้วมีผื่นคัน หรืออาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
ครีมยูเรีย ประโยชน์มากมายและใช้ได้ผลค่อนข้างดี แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็เกิดผลเสียตามมา โรคผิวหนังนั้นอาจแย่ลง ก่อนซื้อมาใช้เองควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอว่ารอยโรคนั้น ๆ มีข้อบ่งชี้สำหรับครีมยูเรียหรือไม่ อย่าลืมว่า..เหรียญมีสองด้านนะคะ
ด้วยความปรารถนาดี
——————————————
Reference
Topical urea in skincare: A review
Dermatilogy Therapy 2018; e12690.
——————————————
อ่านบทความที่ www.helloskinderm.com
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.