อากาศเปลี่ยนทำไม “รังแค” มาจัง ⁉️

หลายคนพออากาศเย็นก็มีรังแคเห่อคันมากขึ้น เรามาทำความเข้าใจเรื่อง รังแคที่หนังศีรษะ ในโพสนี้ค่ะ

ความจริงแล้วรังแคเป็นภาวะที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาให้ภาวะกำเริบหายเร็วขึ้น ส่วนมากใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ต่อการรักษาในแต่ละครั้งของการกำเริบ ร่วมกับการกำจัดปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วยไปพร้อมกัน

1. รังแคที่หนังศีรษะ เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคเซบเดิร์ม

บางคนอาจมีผื่นขุยอักเสบในบริเวณอื่นร่วมด้วย โดยมักจะเป็นที่บริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น หัวคิ้ว ไรผม ร่องจมูก เครา หลัง หน้าอก

2. รังแคไม่ได้เกิดจากความสกปรก

แต่มีสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมีต่อมไขมันอักเสบขึ้น ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

ต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป จึงเห็นได้ว่า รังแคและผื่นเซบเดิร์มมักเกิดผื่นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น ร่องแก้ม หัวคิ้ว หนังศีรษะ อก หลัง เป็นต้น

ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่หนังศีรษะ (Scalp microbiome) ทำให้เกิดการก่อโรค ได้แก่ ยีสต์ Malassezia sp. ซึ่งชอบไขมัน หรือ แบคทีเรีย Staphylococcus, Propionibacterium ที่มากขึ้น

• สภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศเย็น ฤดูหนาว ความชื้นต่ำ ผิวแห้ง จะทำให้รังแคเห่อมากขึ้น

ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายขาดสมดุล จึงทำให้มีรังแคกำเริบได้

• การดื่มแอลกอฮอล์มากไป

• การเสียดสี แกะเกา เป็นการกระตุ้นอีกทางที่ทำให้ผื่นรังแคเห่อมากขึ้น

ปัจจัยทางกรรมพันธุ์

3. ภาวะขาดวิตามินบางอย่างก็สามารถทำให้เกิดรังแคหรือผื่นเซบเดิร์มได้

เช่น วิตามิน B2, B6, Zinc ดังนั้น การทานวิตามินเหล่านี้เสริม สามารถทำได้ในกรณีที่มีการขาดวิตามินร่วมด้วย

4. แชมพูขจัดรังแคตามท้องตลาด

หากมองหาแชมพูตามท้องตลาดที่สามารถขจัดรังแคและควบคุมความมันที่หนังศีรษะได้ ควรเลือกส่วนผสมที่มีสารออกฤทธิ์หลัก เช่น

• Zinc pyrithione 0.5-1% shampoo

• Salicylic acid shampoo

• Sulfur shampoo

5. หากสระผมด้วยแชมพูขจัดรังแคทั่วไปตามข้อ 4 นานประมาณ 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

แนะนำให้ลองปรับเป็นกลุ่มแชมพูยา เพราะกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ตัวที่มีข้อมูลว่าช่วยเรื่องรังแค และหาได้ไม่ยากตามร้านขายยาทั่วไป เช่น แชมพูยา Selenium sulfide

• ควรเลือกใช้ที่แชมพูยา Selenium sulfide ที่มีความเข้มข้น 2.5%

• กลไกออกฤทธิ์ที่เชื่อว่าช่วยเรื่องรังแค คือ ตัวยาสามารถยับยั้งเชื้อ Malassezia แบบ fungicidal, ทำให้มีการหลุดลอกของเชื้อออกจากเซลล์ผิว และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้

• ช่วยลดอาการคันหนังศีรษะร่วมด้วย

6. นอกจากแชมพูที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องสระผมให้ถูกวิธี

แชมพูเหล่านี้ต้องการเวลาในการออกฤทธิ์ ดังนั้น เขย่าขวดก่อน ผสมน้ำชโลมแชมพูที่โคนผมและหนังศีรษะ นวดเบา ๆ ให้เกิดฟอง ทิ้งไว้ 3-5 นาทีเพื่อให้เวลาในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบของต่อมไขมันที่หนังศีรษะ แล้วจึงล้างออก แต่ไม่แนะนำให้ใช้แชมพูชโลมที่หนังศีรษะโดยไม่ผสมน้ำเพราะอาจก่อการระคายเคืองได้ และแนะนำใช้ครีมนวดผมเพื่อเพิ่มความนุ่มของเส้นผม

7. ขั้นตอนสระผมสำคัญมาก

เพราะหลายคนใช้แชมพูที่ดีอยู่แล้ว แต่สระผมไม่ถูกวิธี ไม่สระที่โคนผม ไม่ปล่อยทิ้งไว้ 3-5 นาที ก่อนล้างออก ก็อาจจะไม่ทำให้รังแคดีขึ้นได้

8. คนที่มีรังแคควรสระผมด้วยแชมพูเหล่านี้ด้วยความถี่สม่ำเสมอ

อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากหนังศีรษะมันมากสามารถสระได้ทุกวัน เพราะหนังศีรษะแต่ละคนไม่เหมือนกัน และหากรังแคดีขึ้นแล้ว ก็แนะนำให้ใช้แชมพูต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันการเห่อกลับมาของรังแคในอนาคต

9. จุดนี้หากยังไม่ดีขึ้น แนะนำควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง

เพื่อประเมินว่าคุณเป็นรังแคจริงหรือไม่ หรือมีโรคหนังศีรษะอย่างอื่นที่ต้องทำการปรับเปลี่ยนการรักษาหรือเปล่า เพราะบางโรคก็อาจมีอาการคล้ายรังแคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ภาวะหนังศีรษะอักเสบอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อแพทย์อาจพิจารณาปรับการรักษาอื่นเพิ่มเติม

10. กรณี Tar shampoo มีข้อที่ต้องระวัง

❌ แชมพูมีสีน้ำตาล อาจทำให้ติดเส้นผม สีผมเปลี่ยนได้ จึงควรระวังในกรณีที่ผมสีบลอนด์ เทา หรือ ขาว

❌ ทำให้หนังศีรษะไวต่อแสง ควรใส่ปกป้องหนังศีรษะจากแสงแดดหากต้องออกกลางแจ้ง เช่น ใส่หมวก

Bottom Line

โดยสรุป เป็นรังแคไม่ดีขึ้นสักที ให้ลองสำรวจตัวเองดังนี้ค่ะ

ยังมีปัจจัยกระตุ้นให้รังแคเห่ออยู่หรือไม่

• แชมพูที่ใช้ .. เหมาะสมหรือไม่

ลองปรับแชมพู หากใช้แชมพูขจัดรังแคทั่วไปแล้วไม่ได้ผล อาจลองเปลี่ยนไปใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารตัวอื่น หรือกลุ่มแชมพูยา เช่น selenium sulfide ก็ทำให้ได้ผลดีขึ้นได้ 

• วิธีการสระผม .. ถูกต้องหรือยัง

• เป็นโรคของหนังศีรษะอื่น ๆ .. หรือไม่

หากไม่แน่ใจว่าเป็นรังแคจริงหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง เพื่อช่วยตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการ ขุยที่หนังศีรษะนั้นอาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งต้องใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่ประสบปัญหารังแคกวนใจอยู่นะคะ 

ถ้าชอบและเห็นว่าโพสนี้มีประโยชน์ ช่วยกันกดแชร์เยอะ ๆ นะคะ 

ด้วยความปรารถนาดี

หมอเจี๊ยบ

——————————————

References:

Experimental Dermatology. 2021;30:1546–1553.

Eur J Dermatol. 2017 Jun 1;27(S1):4-7.

Front Cell Infect Microbiol. 2016 Nov 17;6:157.

Selenium Sulfide Monograph for Professionals – Drugs.com

J Clin Investig Dermatol. 2015 December ; 3(2): .

Fitzpatrick 8th edition and Bolognia 4th edition, Textbook of dermatology

——————————————

รวมลิ้งค์ https://linktr.ee/drwarayuwadee

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s