7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Ketoconazole Shampoo

Ketoconazole Shampoo ใช้รักษาผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนได้จริงหรือ ?

เป็นอีกคำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบ
ก่อนเข้าประเด็นเรื่องรักษาผมบาง จะขอเล่าให้ฟังก่อนว่า Ketoconazole shampoo สามารถใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง

7 ข้อน่ารู้ของ Ketoconazole Shampoo

1. Ketoconazole ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราโดยการยับยั้งการสร้าง ergosterol ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผนังเซลล์ของตัวเชื้อราหรือยีสต์ เมื่อการสร้างผนังเซลล์ผิดปกติไป จึงส่งผลให้เชื้อไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มยาที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาภาวะติดเชื้อดังกล่าวเป็นหลัก

2. กรณีรังแคหรือหนังศีรษะอักเสบเซบเดิร์ม นอกจากเกิดจากปัจจัยเรื่องการอักเสบแล้ว ยังพบว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนเชื้อยีสต์ Malazzesia ที่บริเวณหนังศีรษะเพิ่มขึ้นกว่าคนทั่วไป

ดังนั้น จึงมีการนำ ketoconazole shampoo มาใช้ในการรักษาและป้องกันรังแคร่วมด้วย เพราะสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ และยังมีกลไกช่วยลดการอักเสบได้ดี

3. เมื่อเปรียบเทียบการรักษาภาวะรังแคหรือหนังศีรษะอักเสบเซบเดิร์มด้วย Ketoconazole shampoo, Selenium sulfide shampoo ทั้งสองตัวช่วยลดปริมาณยีสต์และลดอาการคันได้ดีกว่าแชมพูทั่วไป โดยพบว่า

• ประสิทธิภาพการลดเชื้อต่างกันเล็กน้อย : Ketoconazole shampoo > Selenium sulfide shampoo
• ประสิทธิภาพการขจัดขุยรังแค : Ketoconazole shampoo > Selenium sulfide shampoo
• ประสิทธิภาพป้องกันกลับเป็นซ้ำ : Ketoconazole shampoo > Zinc pyrithione
• ประสิทธิภาพการลดอาการคันไม่ต่างกันทั้งสามชนิด : Ketoconazole shampoo, Zinc pyrithione, Selenium sulfide
ดังนั้น สามารถพิจารณาเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม

4. กรณีเกลื้อน พบว่าเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นเชื้อ Pityrosporum ที่อยู่ตามรูขุมขนของเรา และกินไขมันเป็นอาหาร โดยมักทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขุยเป็นวงสีขาว, แดงหรือน้ำตาลขึ้นที่บริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น หน้าอก หลัง โดยเฉพาะเวลาที่เหงื่อออกเยอะ ผิวมัน หลังเล่นกีฬา หรืออยู่ที่ร้อนอบอ้าว

ดังนั้น Ketoconazole shampoo สามารถใช้ในภาวะนี้ได้เช่นกัน และนอกจากการรักษาเกลื้อนด้วยยากิน ยาทา แชมพูฟอกแล้ว ยังต้องรักษาสุขอนามัยร่วมด้วย อย่าปล่อยเหงื่อหมักหมม หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำให้สะอาด ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น

5. กรณีผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ก็มีบางงานวิจัยที่อธิบายไว้ว่า
• 2% ketoconazole shampoo ช่วยลดการอักเสบบริเวณหนังศีรษะ และลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายบริเวณรากผม #ทำให้การหลุดร่วงของเส้นผมน้อยลงและรากผมแข็งแรงมากขึ้น
• 2% ketoconazole shampoo (ในงานวิจัยใช้ Nizoral shampoo) พบว่าเส้นผมมีความหนาและมีขนาดใหญ่ขึ้น จากตัดชิ้นเนื้อมาดูหลังการใช้สระต่อเนื่องเกิน 1-2 ปีขึ้นไป

ดังนั้น จึงอาจเห็นมีการใช้แบบ Off-label use เป็นการรักษาเสริมในผู้ที่มีภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน เพิ่มเติมจากการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน และการเห็นผลอาจต้องใช้เวลา และต้องรอดูข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

6. กรณีหนังศีรษะมัน มีงานวิจัยพบว่า ketoconazole shampoo สามารถออกฤทธิ์ลดการสร้าง sebum ที่หนังศีรษะได้ โดยควบคุมความมันได้หลังการใช้ประมาณ 36 ชั่วโมงจากการวัดด้วยเครื่องมือทางการวิจัย

ดังนั้น อาจใช้สระทุก 2-3 วัน เพื่อช่วยลดความมันบนหนังศีรษะได้

7. ยังไม่มีการศึกษาความปลอดภัยในการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร, ควรระวังการใช้ในคนที่แพ้ยาที่เป็นส่วนประกอบ และระวังเข้าตาอาจระคายเคืองได้

Tips

เคล็ดลับการใช้ ketoconazole shampoo ในโรคต่าง ๆ โดยใช้เป็นตัวเสริม ร่วมกับการรักษาโรคเหล่านี้ด้วยวิธีมาตรฐาน

กรณีรังแคหรือหนังศีรษะอักเสบเซบเดิร์ม

▫️ใช้แชมพูประมาณ 5 ml ผสมน้ำและสระฟอกบริเวณที่เป็นทิ้งไว้ 3-5 นาที ให้ยาออกฤทธิ์และล้างออก
▫️ช่วงโรคกำเริบ ควรสระ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ และหากโรคสงบแล้วแนะนำใช้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อป้องกัน
▫️ถ้าหลังสระแล้วผมแห้งหรือไม่ชอบกลิ่น อาจใช้ครีมนวดผมเพิ่มเติมบริเวณปลายผมได้

กรณีรักษาเกลื้อน

▫️ ให้อาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ตามปกติ เมื่อเสร็จแล้วล้างสบู่แต่อย่าเพิ่งเช็ดน้ำที่ติดบนผิวหนังออก จากนั้นใช้แชมพูลูบไปทั่วบริเวณที่เป็น ทิ้งไว้ 3-5 นาที แล้วจึงอาบน้ำล้างแชมพูออก
▫️ การรักษาควรทำทุกวัน ร่วมกับกินยาทายารักษามาตรฐาน
▫️ ไม่ควรฟอกตัวทิ้งไว้นานเกินไป และผสมน้ำเจือจางเสมอป้องกันการระคายเคืองผิว

กรณีหนังศีรษะและผมมัน

▫️ใช้แชมพูประมาณ 5 ml ผสมน้ำและสระฟอกบริเวณที่เป็นทิ้งไว้ 3-5 นาที ให้ยาออกฤทธิ์และล้างออก
▫️ความถี่ของการใช้ 1-3 วันต่อครั้ง ขึ้นกับความมันของแต่ละคน

กรณีผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน

▫️ยังไม่มีแนวทางชัดเจน และการเห็นผลต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
▫️ข้อมูลจากงานวิจัย ใช้สระผม 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 1-2 ปี ขึ้นกับงานวิจัย

ในท้องตลาดมีแชมพูหลายยี่ห้อ อาจลองเลือกตามความพึงพอใจ แนะนำให้ความเข้มข้นประมาณ 2% และหากเป็นรูปแบบ micronized form ก็สามารถเพิ่มการดูดซึมและออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น เท่าที่ทราบก็จะเป็นตัว Nizoral shampoo ซึ่งเป็นตัวออริจินอลที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และช่วยให้ทุกคนรู้จัก ketoconazole shampoo มากขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองได้ดีขึ้น และหากไม่แน่ใจว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นสามารถใช้แชมพูตัวนี้ได้หรือไม่ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางร่วมประเมิน

ใครเคยใช้บ้างมั้ยคะ

Reference
Int J of Woman’s Dermatol. 2018; 4: 203-211.
J Mycol Med. 2018; 28(4): 590–593.
Int. J. Cosmetic Science 1997; 19: 1-7.
Journal of Dermatological Treatment 1990; 1: 4, 177-179.
Dermatology. 198; 196(4): 474-7.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s