
ทำความรู้จัก ยาฉีดชีวโมเลกุล สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน ‼️
มีคำถามเกี่ยวกับการรักษาโรคสะเก็ดเงินเข้ามามากมาย ว่ามีวิธีรักษาอย่างไรได้บ้าง บางคนไม่อยากกินยาหรือมีข้อห้ามในการใช้ยา บางคนไม่สะดวกไปฉายแสงทุกสัปดาห์ หรือบางคนรักษามานานไม่ดีขึ้นสักที โพสนี้เลยอยากเล่าเรื่องการรักษาโรคนี้คร่าว ๆ และพูดถึงยาฉีดชีวโมเลกุลที่ใช้รักษาโรคนี้ให้ได้รู้จักกันแบบเข้าใจง่าย ๆ ลองอ่านกันดูนะคะ
1️⃣ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จะพบมีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังทำให้มีการหนาตัวขึ้น บางรายอาจมีลักษณะตุ่มน้ำ และอาจมีข้ออักเสบร่วมด้วย
2️⃣ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าอาจมีการกระตุ้นจากปัจจัยบางอย่าง เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน ระบบอิมมูนร่างกาย แอลกอฮอล์หรือยาบางชนิด ดังนั้น นอกจากจะรักษาโรคแล้ว ยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย
3️⃣ ผู้ป่วยที่มีผื่นสะเก็ดเงินไม่มาก (<10% BSA ซึ่งเทียบได้คร่าว ๆ ประมาณ 10 ฝ่ามือ) อาจรักษาด้วย ยาทาภายนอก เช่น
✔️ ยาทาคอร์ติโคสเตอรอยด์
✔️ ยาทาน้ำมันดิน
✔️ ยาทาอนุพันธ์วิตามินดี
ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ เพราะยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียงและข้อห้ามบางอย่างที่ต้องระวังการใช้
4️⃣ หากผู้ป่วยมีอาการสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก แพทย์อาจพิจารณาการรักษาอื่นเพิ่มเติม เช่น
✔️ ยากดภูมิคุ้มกัน
: Methotrexate ควรระวังผลข้างเคียง คลื่นไส้อาเจียน, ตับอักเสบจนถึงตับแข็งได้, กดการทำงานไขกระดูก
: Acitretin ควรระวังผลข้างเคียง ปากแห้ง ตาแห้ง ผิวแห้ง, ไขมันในเลือดสูง และต้องคุมกำเนิดนาน 2 ปีหลังหยุดยา
: Cyclosporin ควรระวังผลข้างเคียง ไตวาย, ความดันโลหิตสูง, ขนยาว, เหงือกบวม
✔️ ฉายแสงอาทิตย์เทียม
: NB-UVB, PUVA เป็นอีกวิธีที่ได้ผลดี ผลข้างเคียงไม่มากนัก บางรายอาจมีอาการแสบแดงบริเวณที่ฉายแสงได้ แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ผู้ป่วยต้องมาฉายแสง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3-6 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผลการตลอดสนองดี
5️⃣ ยาฉีดชีวโมเลกุล หรือเรียกว่า Biologic agents ถือเป็นยากลุ่มใหม่ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน โดยจะเข้าไปปรับที่ระบบอิมมูนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคโดยตรง
ยกตัวอย่างยาที่มีในปัจจุบัน
✔️ กลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้ง Tumor Necrosis Factor α (Anti-TNF-α)
: Etanercept
: Infliximab
: Adalimumab
: Certolizumab
✔️ กลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้ง IL-12/IL-23
: Ustekinumab
✔️ กลุ่มออกฤทธ์ิยับยั้ง IL-17/IL-17R
: Secukinumab
: Brodalumab
: Ixekizumab
✔️ กลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้ง IL23
: Guselkumab
: Tildrakizumab
ยากลุ่มชีวโมเลกุลนี้มีความแตกต่างของการบริหารยา ดังนี้
▫️วิธีการฉีด : แบบฉีดเข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
▫️ความถี่ของการฉีด : ทุก 2 สัปดาห์ – ทุก 3 เดือน
▫️ผลการรักษา : ค่อนข้างดีถึงดีมาก และเห็นผลการรักษาค่อนข้างเร็ว บางตัวผื่นดีขึ้นในไม่กี่สัปดาห์
▫️ความสะดวกในการใช้ : ค่อนข้างสะดวกสบาย ไม่ต้องนอน รพ. แต่แนะนำว่าหลังฉีดยา (โดยเฉพาะครั้งแรก) ควรรอสังเกตอาการว่าไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ก่อนกลับบ้าน
▫️ราคายา : ค่อนข้างสูง และยาบางตัวยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิ์ มีเพียงบางตัวที่เบิกได้ตามข้อบ่งชี้เท่านั้น
▫️ผลข้างเคียง : ส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงอาจมีอาการปวดบวมเล็กน้อยที่บริเวณตำแหน่งฉีดในบางราย, อาการจามคัดจมูกเล็กน้อย ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงพบไม่บ่อย ขึ้นกับชนิดยา ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนรักษาด้วยวิธีนี้
6️⃣ ยาฉีดชีวโมเลกุล ถือเป็นอีกทางเลือกการรักษาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีมากในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน แต่เนื่องจากปัจจัยบางอย่างของการเกิดโรคอาจไม่สามารถแก้ได้ เช่น พันธุกรรม ระบบอิมมูนร่างกาย เป็นต้น ดังนั้นการรักษาโรคสะเก็ดเงินอาจยังไม่มีวิธีใดที่ทำให้หายขาด แต่เราคาดหวังให้โรคสงบได้ยาวนาน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป
7️⃣ ผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่สนใจอยากรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะพิจารณาข้อบ่งชี้และข้อห้ามในการรักษา รวมทั้งในการเลือกยาแต่ละชนิด ทั้งนี้อาจมีเรื่องของค่าใช้จ่ายและความถี่ในการฉีดยา เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อผลการรักษาอย่างดีที่สุดค่ะ
นอกจากความตั้งใจในการรักษาของตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยยังต้องมีความเข้าใจตัวโรคเป็นอย่างดี รวมทั้งครอบครัวและบุคคลรอบข้างก็สำคัญไม่น้อย ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยสะเก็ดเงินทุกคนค่ะ
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.