” บทความนี้หมอจะขอมาอัพเดทแนวทางการรักษาหูดด้วยวิธีต่าง ๆ จาก Guideline ล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ใน J Dtsch Dermatol Ges. 2019 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ และตอบคำถามที่คนไข้มักถามบ่อย ๆ ”
https://doi.org/10.1111/ddg.13878
โรคหูดเกิดจากอะไรและมีอาการอย่างไรบ้าง

เกิดจากการติดเชื้อ HPV หรือ Human Papilloma Virus ที่บริเวณผิวหนังหรือเยื่อบุนั้น ทำให้มีการแบ่งตัวเกิดรอยโรคที่ลักษณะเป็นตุ่มนูนขรุขระ หรือ อาจเป็นผื่นแบนราบก็ได้ (ชนิดนี้มักพบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าและใบหน้า โดยเฉพาะหน้าผาก) โดยมากมักไม่มีอาการ อาจคันเล็กน้อย แต่รอยโรคที่บริเวณกดทับเช่นฝ่าเท้า อาจพบมีอาการเจ็บหรือเลือดออกได้ [Slide 1]
โรคหูดติดต่อได้ทางไหนบ้าง
ติดต่อทางการสัมผัสโดยตรงบริเวณรอยโรค, ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโอกาสติดเชื้อจะสูงขึ้นหากบริเวณผิวหรือเยื่อบุนั้นมีแผลหรือรอยถลอก
โรคหูดที่ผิวหนังสามารถรักษาด้วยวิธีใดบ้าง
หากภูมิคุ้มกันปกติ สามารถหายเองได้แต่ใช้ระยะเวลาหลายเดือน อาจนานเป็นปี เพียงแค่รักษาความสะอาดและดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้มีการลุกลามมากขึ้น และหากหายแล้วก็จะช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้ หากพบว่ามีรอยโรคหูดที่เป็นค่อนข้างมากและรุนแรง เป็นๆไม่หายๆ หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็คภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม
ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาหลายวิธีที่มีงานวิจัยรับรองว่าได้ผล ได้แก่
- ยาทา Topical treatment เช่น Salicylic, retinoids, 5FU, bleomycin, imiquimod, chemical peeling ด้วยกรดต่างๆ มักใช้ในรอยโรคขนาดเล็กและไม่ลึกมาก ยาบางชนิดมีขายตามท้องตลาด ใช้ทาวันละ 2-3 ครั้ง ควรระวังผลข้างเคียงของการระคายเคืองจากยาในบริเวณผิวหนังรอบหูด อาจใช้วาสลีนทารอบๆหูดเพื่อป้องกันภาวะนี้ได้
- การใช้เลเซอร์ และการจี้ด้วยไฟฟ้า มักมีแผลตกสะเก็ดตามมาประมาณ 1 สัปดาห์หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน วิธีนี้จะต้องมีเครื่องดูดควันเพื่อป้องกันไอระเหยของหูดจากการเผาไหม้ ซื้ออาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่สูดดมเข้าไปได้ แต่สามารถหายได้ในครั้งเดียว
- การจี้ด้วยความเย็นจากไนโตรเจนเหลว จี้ทุก 2-4 สัปดาห์ ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับรอยโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน ปัจจุบันมีชนิดปากกาสามารถทำเองที่บ้านได้
- การผ่าตัดหรือฝานออก วิธีนี้ค่อนข้างเจ็บ
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เช่น การทา DCP (Diphencyprone), Tuberculin, PPD etc วิธีนี้ต้องมาทายาที่ รพ. สัปดาห์ละครั้งจนหายขาด
- ยากินที่เชื่อว่าออกฤทธิ์ immune enhancer เช่น Cimetidine, Zinc sulfate, Levomizole เป็นต้น



นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาถึงผลการรักษาในแต่ละวิธี ว่าแตกต่างกันหรือไม่ โดยดูจาก clearance rate
การรักษาด้วยการจี้เย็น Cryotherapy สามารถทำได้ทุกรายหรือไม่
ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามเรื่องการตอบสนองต่อความเย็นที่มากเกินไป หรือ ในผู้ป่วยที่ยังไม่แน่ใจในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหูดหรือโรคผิวหนังชนิดอื่นที่ต้องการการรักษาเฉพาะ เช่น มะเร็งหรือเนื้องอกผิวหนังอื่นๆ และนอกจากนั้นการใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้


มีวิธีป้องกันโรคหูดหรือไม่
รักษาร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการสัมผัสและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหูด ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.