ในฐานะที่เป็นอายุรแพทย์โรคผิวหนังก็มักจะมีคนถามเสมอว่า
“คุณหมอ_ทาวิตามินซีตัวไหนยี่ห้อไหนดี”
ซึ่งถ้าหากถามจากหมอผิวหนังหลาย ๆ ท่าน ก็อาจจะได้รับคำตอบที่แตกต่างกันออกไป
“หมอคิดว่าการจะตอบคำถามนี้ให้ดีที่สุดนั้น ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือโดยมีการอ้างอิงตามหลักวิชาการ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ และทุกท่านสามารถนำไปใช้พิจารณาในการเลือกผลิตภัณฑ์ได้เหมาะสมกับสภาพผิวและความต้องการของแต่ละบุคคลได้อย่างดีที่สุดค่ะ”
หมอจะขอแบ่งเป็น 3 ตอนนะคะ
ตอนที่ 1 หลักการง่าย ๆ ในการเลือก Topical Vitamin C เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด
ตอนที่ 2 รวบรวมและแบ่งกลุ่ม Topical Vitamin C ในท้องตลาดตามหลักการตอนที่ 1
ตอนที่ 3 พูดถึงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Topical Vitamin C ในท้องตลาดตามคำขอ
ตอนที่ 4 เจาะลึกวิธีการทำอย่างไรให้ได้คุณสมบัติที่ดีในแต่ละอย่างข้างต้น
เรามาเริ่มตอนแรกกันเลย
✅ วิตามินซีชนิดทามีกี่รูปแบบ ?
👩🏻⚕️ มี 2 แบบ คือ Pure Vitamin C (L-ascorbic acid) และ อนุพันธ์ของวิตามินซี (Vitamin C derivatives)
✅ วิตามินซีที่ออกฤทธิ์ได้ดีและเห็นผลจริงควรมีคุณสมบัติอย่างไร ?
👩🏻⚕️ สามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังกำพร้าลงไปออกฤทธิ์ที่ชั้นหนังแท้ส่วนบนได้ดี
👩🏻⚕️ มีความเสถียรและคงตัว
👩🏻⚕️ ระคายเคืองต่อผิวน้อยที่สุด
👩🏻⚕️ ช่วยลดการสร้างเม็ดสีและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้จริงจากการศึกษาวิจัย
จะเห็นได้ว่า ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น Pure Vitamin C ซึ่งในที่นี้คือ L-Ascorbic acid (LAA) และปัจจุบันมีสารตัวใหม่ คือ 3-O-Ethyl L-Ascorbic acid (EA) ที่เชื่อว่าจะเห็นผลใกล้เคียง LAA มากที่สุด และควรเป็น solvent system ที่เหมาะสมจึงจะสามารถซึมผ่านผิวหนังเพื่อคุณสมบัติข้างต้นได้ ได้แก่ GLY, PG, HEX, PGML, PGMC เท่านั้น
✅ กินวิตามินซีอยู่แล้วต้องทาด้วยหรือไม่ ?
👩🏻⚕️ เนื่องจากวิตามินซีในรูปแบบรับประทานสามารถออกฤทธิ์ได้ถึงแค่ผิวหนังแท้ส่วนลึกบริเวณที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงเท่านั้น จึงแนะนำให้ใช้รูปแบบทาร่วมด้วย ควรเป็นแบบที่สามารถทาแล้วซึมผ่านชั้นผิวหนังลงไปได้และยังคงตัวอยู่ในสภาพที่ออกฤทธิ์ในชั้นผิวหนังส่วนตื้นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะบางชนิด อาจซึมได้ดีและเร็ว ทาแล้วให้ความรู้สึกที่ดีตามคำโฆษณา แต่อาจสูญเสียคุณสมบัติส่วนนี้ไป
✅ เป็นสิวทาวิตามินซีได้หรือไม่
👩🏻⚕️ รูปแบบที่มีการศึกษาว่าช่วยลดการอักเสบของสิวได้ดี มีแบบเดียว คือ Sodium Ascorbyl Phosphate (SAP) ส่วนแบบอื่น ๆ สามารถทาเพื่อการบำรุงได้แต่ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่มีส่วนผสมของ comedogenic substances or oils เพื่อลดการเกิดสิวมากขึ้นค่ะ
✅ วิตามินซีที่เสถียรควรมีคุณสมบัติอย่างไร ?
👩🏻⚕️ pH < 3.5
👩🏻⚕️ ผสม Ferulic acid และ Vitamin E จะเป็นการเพิ่มคุณสมบัตินี้ให้ดียิ่งขึ้น
👩🏻⚕️ เก็บในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม แนะนำชนิดสุญญากาศหัวปั๊ม ทึบแสง จะดีที่สุด
✅ รูปแบบ Serum, Cream, Oil, Powder-based แตกต่างกันหรือไม่ ?
👩🏻⚕️ แตกต่างในแง่ของความสามารถในการคงตัวในเรื่องของ pH ทั้งนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ตามมา พบว่าแบบ Serum-based คงตัวดีกว่า Cream-based
👩🏻⚕️ Powder-based มักสูญเสียคุณสมบัตินี้ไปในตอนที่มีการผสมน้ำก่อนการใช้ จะทำให้ค่า pH สูงขึ้นเป็น 6-7 ซึ่งออกฤทธิ์ได้ไม่ดี
👩🏻⚕️ Oil-based สามารถใช้ได้ดี แต่ควรต้องระวังกลุ่ม Comedogenic-oil
✅ ความเข้มข้นที่สามารถออกฤทธิ์ ลดการสร้างเม็ดสีและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ผลจริงคือเท่าไหร่ ?
👩🏻⚕️ งานวิจัยจากการดูชิ้นเนื้อและกล้องที่ผิวหนัง พบว่า 8-20% คือเหมาะสมที่สุด
👩🏻⚕️ ความเข้มข้นน้อยกว่านี้ ยังไม่มีข้อมูลสรุปว่ามีคุณสมบัตินี้ได้จริงหรือไม่ มีเพียงการศึกษาที่พบว่าไม่ได้ผล แต่บางครั้งเราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงจากผิวหลังการทาวิตามินซีความเข้มข้นต่ำจากรีวิวสินค้าหรือโฆษณาต่าง ๆ เช่น ขาวขึ้น รอยลดลง ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องของปัจจัยอื่น เช่น การบำรุงจากส่วนผสมอื่น ๆ เทคนิกการกระเจิงแสง การอุ้มน้ำในผิว เป็นต้น
👩🏻⚕️ ความเข้มข้นมากกว่านี้ มีการศึกษาชัดเจนว่า ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นมากนัก แต่สิ่งที่มากขึ้นคือ ผลข้างเคียงจากการระคายเคืองผิว และราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
โดยหมอได้ค้นคว้าหาข้อมูลมาหลายเดือน พบว่ามีการศึกษามากมายทั้งทำการทดลองในผิวหนังของมนุษย์ (Human-based), ผิวหนังสัตว์ที่ใกล้เคียงมนุษย์ (Animal-based) และการศึกษาในหลอดทดลอง (In vitro) ได้สรุปง่าย ๆ ไว้ให้ในตาราง สิ่งที่ดีที่สุดก็คงเป็นการศึกษาที่เป็น Human-based ค่ะ ส่วนที่ยังไม่มีข้อมูลก็คงต้องรอเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

โดยพบว่า แบรนด์ที่ได้มาตรฐาน มักระบุคุณสมบัติข้างต้นไว้ชัดเจน เพื่อการันตีถึงความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค และผู้บริโภคควรสอบถามข้อมูลเบื้องต้นต่าง ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับตัวเอง ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ความเหนียวของครีม การซึมช้าเร็ว ความมันวาว ความขาวใสหลังการทา ริ้วรอยลดลงหลังการทา อาจเพราะผลของ ingredient-based อื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถนำมาประกอบการตัดสินประสิทธิภาพของ Topical Vitamin C ได้ เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านอื่น ๆ และช่วยในแง่ความรู้สึกต่อผลิตภัณฑ์ในการทาเท่านั้นค่ะ
หลังการทาวิตามินซี เราจะสามารถประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของสภาพผิวในแง่ของ
- ความกระจ่างใสจากผลของลดการสร้างเม็ดสี
- ความอ่อนเยาว์ริ้วรอยดูน้อยลงจากผลของการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
จากงานวิจัยระบุว่า จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างผิว อย่างน้อย 3-4 เดือน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหลังการทาเพียงไม่กี่ครั้งในระยะเวลาสั้น ๆ อาจยังไม่สามารถนำมาประกอบการวัดประสิทธิภาพได้ในทางวิชาการค่ะ
เบื้องต้นเท่านี้ก่อน แชร์ได้ไม่ว่ากัน
รอติดตามตอนต่อไป
แพทย์หญิงวรายุวดี อมรภิญโญ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง