Tag Archives: หมอผิวหนัง

4 Steps เช็คสภาพผิวก่อนเลือกซื้อสกินแคร์

เชื่อไหมว่า.. เพียงแค่เลือกสกินแคร์ให้ตรงกับสภาพผิว ก็ทำให้ผิวดีขึ้นได้แล้ว‼️

ถ้าอยากให้ ผิวสวยแบบไม่ต้องเสียเงินไปอย่างสูญเปล่า กับการซื้อสกินแคร์ที่ไม่ตรงกับผิวตัวเอง ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณมีผิวประเภทไหน❓

มาเริ่มเลยค่ะ
🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰🔰

⭐️ 4 ขั้นตอนเช็คง่าย ๆ ว่าคุณมีผิวประเภทไหน❓

1.🔴 เช็ดเครื่องสำอางและล้างหน้าให้สะอาด แล้วรอ 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้ทาครีมและไม่มีการสัมผัสใบหน้าใด ๆ แล้วดูว่าความรู้สึกที่ผิวหน้าเป็นอย่างไร ❓
✔️ ถ้าสบายผิวดี —> อ่านต่อข้อ 2.🟡
✔️ ถ้ารู้สึกแห้งตึง —> อ่านต่อข้อ 4.🟢

2.🟡 รออีก 1-2 ชั่วโมงถัดมา แล้วลองใช้ทิชชูซับที่ผิวหน้าบริเวณ T-zone ดูซิว่ามีความมันจากผิวหน้า ติดมากับทิชชูหรือไม่ ❓
✔️ ถ้าไม่มีน้ำมันติด —> ผิวปกติ (Normal skin)
✔️ ถ้ามีน้ำมันติด —> อ่านต่อข้อ 3.🟣

3.🟣 ต่อไปสังเกตที่แก้ม ดูว่าแห้งตึงหรือไม่ ❓
✔️ ถ้าแก้มไม่แห้งตึง —> ผิวมัน (Oily skin)
✔️ ถ้าแก้มแห้งตึง —> ผิวผสม (Combination skin)

4.🟢 ลองดูว่ามีอาการหน้าแดง แสบ คัน หรือไม่❓
✔️ ถ้าไม่มี —> ผิวแห้ง (Dry skin)
✔️ ถ้ามี —> ผิวแพ้ง่าย (Sensitive skin)

หลายคนอินบอกซ์มาบอกหมอว่า หลังจากปรับลำดับการทาครีมตามที่หมอแนะนำไป 2-3 สัปดาห์ โดยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนครีมอะไร สภาพผิวก็ดีขึ้นมากเลย และนี่เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้ผิวของทุกคนดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ

“ลำดับการทาครีมที่ว่าสำคัญมาก ๆ แล้วนั้น การเลือกสกินแคร์ให้ตรงกับสภาพผิวก็สำคัญมาก ๆ ไม่แพ้กัน”

ไหนลองตอบหมอหน่อยสิคะ..ว่าคุณมีผิวประเภทไหน‼️

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

รวมวิธีแก้ 6 ปัญหาเท้านักวิ่ง

ปัญหาเท้านักวิ่ง runner

นักวิ่งทั้งหลายใครมีปัญหาเท้าแบบในรูปบ้าง ⁉️

1. ตาปลาและตุ่มน้ำพอง

เกิดจากการเสียดสีที่เดิมซ้ำ ๆ

วิธีแก้
• ควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า หรืออาจใช้ตัวแผ่นรองกันเสียดสีช่วยได้ ถ้าเป็นแล้วอย่าใช้กรรไกรสกปรกตัดหรือฝานเองเนื่องจากอาจติดเชื้อได้
• หากเท้าเริ่มหนาตัว แข็งด้าน อาจทาวาสลีน หรือ ครีมยูเรียบ่อย ๆ

2. เชื้อราที่เล็บที่ง่ามนิ้วที่เท้า

เกิดจากเหงื่อ ความอับชื้น

วิธีแก้
• ใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า ไม่แน่นจนเกินไป สวมรองเท้าคัทชูและถุงเท้าเท่าที่จำเป็นเพื่อลดการอับชื้น
• ใช้ antifungal spray พ่น หรือโรยด้วย antifungal powder ที่รองเท้าและถุงเท้าก่อนสวมใส่เป็นประจำ เช่น clotrimazole powder หรือ spray ช่วยลดกลิ่นเท้า และป้องกันการเกิดเชื้อราได้
• งดเดินเท้าเปล่า
• สวมรองเท้าอาบน้ำในที่สาธารณะป้องกันการติดเชื้อจากพื้น
• หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าผู้อื่น
• หลีกเลี่ยงการใช้กรรไกรตัดเล็บร่วมกัน

3. เลือดคั่งใต้เล็บ

เกิดจากกระแทกเสียดสีซ้ำ ๆ กับหน้ารองเท้า
ยิ่งวิ่ง Hard-core, long runner วิ่งที่ชัน เปลี่ยนทิศทางวิ่งจะเป็นได้บ่อย

วิธีแก้
• ตัดเล็บสั้นเสมอ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อเล็บ เล็บ
• ปรับรองเท้าให้เหมาะสม ไม่บีบหน้าเท้า ไม่หลวมเกินไป

4. เท้าเหม็นเป็นรู

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บางรายอาจมีการติดเชื้อราแทรกซ้อนตามมาได้ เท้าจะเหม็นมาก

วิธีแก้
• ทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Erythromycin gel, Clindamycin gel หากรุนแรงอาจต้องกินยาร่วมด้วย
• ทายา Benzoyl peroxide
• หากมีการติดเชื้อราแทรกซ้อน ทายาฆ่าเชื้อรา

5. เหงื่อเท้าออกมาก

วิธีแก้

• การรักษามาตรฐาน คือ ทายากลุ่ม 20% Aluminum chloride
• ฉีด botulinum toxin ลดเหงื่อ
• ปัจจุบันมีแบบแผ่นเช็ดหรือครีมทาลดเหงื่อก็ได้ผลดี สามารถใช้กับรักแร้ เท้า หลังได้หมด

6. ตุ่มปูดที่เท้า Piezogenic Pedal Papules

วิธีแก้
• ไม่มียารักษา ต้องลดการเดินหรือวิ่ง หรือลดน้ำหนักจะช่วยได้
• หากปวดมาก ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยา

——————————————

อ่านบทความย้อนหลังที่ https://helloskinderm.com

รวมลิ้งค์ https://opl.to/drwarayuwadee

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ไขความลับ 18 ข้อของ Azelaic acid

วันนี้มาดึก ไม่เวิ่นเว้อ เริ่มเลยแล้วกันค่ะ

1. AzA มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิดปกติ (ย้ำ..!! เฉพาะเม็ดสีผิวที่ผิดปกติ) จึงสามารถใช้รักษาฝ้าและรอยดำได้ดี แต่ในคนที่เซลล์สร้างเม็ดสีผิวปกติดี และหวังผลจากการขาวขึ้นจากการใช้ AzA ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก

2. การทา 20% AzA ต่อเนื่อง 3-4 เดือน ทำให้ฝ้าจางลงได้ ใกล้เคียง 4% Hydroquinone แต่ได้ผลดีกว่า 2% Hydroquinone

3. กรณีต้องการลดรอยดำ สามารถใช้ตั้งแต่ 15% AzA ขึ้นไป

4. การทา Retinoic acid ร่วมกับ AzA สามารถเสริมฤทธิ์ช่วยลดรอยดำได้ดีกว่าการทา AzA เดี่ยว ๆ แต่ระวังการระคายเคือง

5. AzA มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการอักเสบ, ลดการอุดตันของรูขุมขน และยังช่วยในการฆ่าเชื้อสิวและเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (S.aureus, S.epidermidis) ได้ กลไกครอบคลุมขนาดนี้จึงสามารถ ใช้รักษาได้ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตันได้ทั้งคู่

6. AzA ฆ่าเชื้อ C.acne ได้ 2 กลไล คือ โดยวิธีการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโดยตรง และโดยการลดการสร้าง sebum ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อ

7. สิวที่รักษาได้ผลดี คือ สิวในระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง หากสิวหัวหนองที่รุนแรง อาจได้ผลไม่ดีนักจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังเพื่อรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย

8. การทา 20% AzA cream เช้าเย็น จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในการรักษาสิวเมื่อใช้ต่อเนื่อง 2 เดือน และหากทาต่อเนื่อง 4 เดือนขึ้นไปผลใกล้เคียงกับการทายาสิวชนิดอื่น

9. ผลการรักษาสิวอุดตันด้วย 20% AzA เทียบกับ topical 0.05% tretinoin (4 เดือน) พบว่าลดสิวอุดตันได้ใกล้เคียงกัน และผลข้างเคียงจาก AzA น้อยกว่า

10. ผลการรักษาสิวอักเสบด้วย 15% AzA เทียบกับ 5% benzyl peroxide (3-4 เดือน) พบว่าไม่ต่างกัน การใช้ BPO อาจทำให้สิวอักเสบยุบได้เร็วกว่าเล็กน้อย และพบว่ากลุ่ม BPO พบมีการระคายเคืองมากกว่า

11. ยังไม่มีรายงานเชื้อดื้อยาจากการรักษาสิวด้วย AzA จึงเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการใช้ยาทากลุ่ม topical antibiotics เช่น clindamycin, erythromycin ดังนั้น สามารถทาได้ต่อเนื่องยาวไปหากไม่มีผลข้างเคียงอะไร

12. AzA ยังมีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวอ่อน ๆ จึงได้ผลดีในการช่วยลดรอยแดงและรอยดำตามหลังการเกิดสิวได้อีกด้วย จึงทำให้สีผิวเนียนสม่ำเสมอขึ้น

13. AzA ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลด ROS ที่เกิดในชั้นผิวหนังได้ดี กลไลนี้จึงทำให้สามารถใช้รักษาภาวะ Rosacea ได้ผลดี

14. ผลข้างเคียงไม่ค่อยมาก ไม่ค่อยแพ้ และ ไม่ทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น จึงสามารถทาได้ทั้ง เช้าหรือเย็น

15. อาจมีการระคายเคือง ยุบยิบ แสบได้เล็กน้อย ในผู้ที่เริ่มใช้ช่วงแรก อาการเหล่านี้จะค่อยดีขึ้นและหายไปหลังจากผิวมีการปรับสภาพ หากแสบมากแนะนำให้เริ่มทาเป็นบางบริเวณ หรือทาแล้วล้างออก ค่อยเพิ่มระยะเวลามากขึ้น จนสามารถทาทิ้งไว้ได้

16. การใช้รูปแบบทา 15-20% AzA พบว่าดูดซึม <4% จึงค่อนข้างปลอดภัย ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่มีปัญหาสิวหรือฝ้าในระหว่างนี้

17. การทาครีมกันแดดร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้การรักษาฝ้าได้ผลดียิ่งขึ้น

18. สามารถใช้ต่อเนื่องได้ยาว ๆ หากไม่มีข้อห้ามหรือผลข้างเคียงจากการใช้ และสามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เพียงระวังเรื่องการระคายเคืองที่อาจมากขึ้น และเว้นระยะห่างการทาจากกลุ่ม Vitamin C หรือ AHA, BHA เนื่องด้วยเรื่องของ pH

ฟังไปฟังมาเหมือนจะได้ผลดีไปหมด ทั้งสิวอุดตัน สิวอักเสบ รอยแดง รอยดำ ฝ้า หน้าแดง หน้าก็เนียนใส ครอบจักรวาลจริงเหรอนี่
แต่ ๆๆๆๆๆๆ ….. อย่าลืมว่า ‼️

Azelaic acid

• ถึงแม้ฤทธิ์ในการรักษาจะค่อนข้างครอบคลุมหลายภาวะหลายกลไก แต่จัดว่า ออกฤทธิ์ไม่แรงมาก จึงเหมาะกับคนที่มีปัญหาผิวหลายอย่างปะปนกันแต่เป็นปัญหาที่ไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก
• จะเห็นผลที่กล่าวมาข้างต้นได้ชัดเจนดีที่สุดตามงานวิจัย หากเมื่อใช้ในรูปแบบยา 20% azelaic acid
• หากบางท่านมีอาการระคายเคือง อาจลองใช้ในกลุ่มที่ผสมใน Dermocosmetics หรือเครื่องสำอาง ก็อาจได้ผล แต่อาจต้องใช้ความเข้มข้น 15-20% และต้องใช้ต่อเนื่องค่อนข้างนานกว่า ซึ่ง AzA ในเค้าเตอร์แบรนด์มีหลายยี่ห้อที่ได้ผลดีค่ะ มีทั้งเจล ครีม โลชั่น 🧴

ถ้ามีคนอยากรู้เยอะ -> พิมพ์อยากรู้ เดี๋ยวหาข้อมูลมาให้เพิ่มเติมค่ะ

อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะเหล่านี้ ตามแนวทางการรักษาอาจต้องใช้ยาหลายอย่างร่วมกันจึงจะได้ผลดีที่สุด หมอก็แนะนำว่า… หากอยากลองทาก็จัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ที่หาซื้อได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเป็นสิว ฝ้า จริงหรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง (Board-certified Dermatologist) เพื่อร่วมดูแลค่ะ

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️
References
J Clin Aesthet Dermatol. 2018; 11(2): 28-37.
Br J Dermatol. 2013; 169 Suppl 3:4-56.
J Cosmet Dermatol. 2011; 10(4): 282-287.
J Drugs Dermatol. 2011; 10(6): 586-90.
Drugs 41(5): 780-798.


บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

ครีมยูเรีย..ทาหน้าได้ไหม ?

ครีมยูเรีย พูดชื่อแล้วบางคนอาจจะงง แต่ถ้าบอกว่า ครีมไดอะบีเดิร์ม, ศิริราชซอฟแคร์, ยูเซอรีนยูเรียรีแพร์ บลาๆๆ.. หลายคนคงร้องอ๋อออ

อีกคำถามที่ถูกถามมาเยอะว่า “ครีมยูเรีย..ใช้ทาที่หน้าได้มั้ย” สรุปง่าย ๆ ตามนี้เลย

ครีมยูเรีย urea cream moisturizer

ยูเรียเป็นส่วนประกอบหนึ่งในผิวหนัง

พบได้ประมาณ 7% ของ NMF (Natural Moisturizing Factor) ซึ่งอยู่ที่ผิวหนังชั้นกำพร้าของเรา ส่วนนี้จะทำหน้าที่ปกป้องผิว กักเก็บความชุ่มชื้น เพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้แก่ผิว

ปริมาณของ urea ใน NMF จะลดลงไปตามอายุ ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

• หาก NMF ไม่สมบูรณ์ ผลคือ สูญเสียน้ำ เสียความยืดหยุ่น ทำให้ผิวแห้งกร้าน ลอก ในที่สุด

• ปัจจุบันที่การนำ urea มาผสมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ครีม, โลชั่น, โฟม, อิมัลชั่น ประมาณ 5-20%

รายงานผลข้างเคียงจากการใช้น้อยมาก เรียกได้ว่าค่อนข้างปลอดภัย

ความเข้มข้นที่ต่างกันออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน

• หากต่ำกว่า 10% จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizing effect) จึงมักใช้ในพวกผิวแห้ง เช่น Xerosis, Ictyosis, Atopic dermatitis, Psoriasis
• หากเกิน 10% ขึ้นไป จะออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว (Keratolytic effect) มักใช้ในรอยโรคผิวหนังที่หนา เช่น Psoriasis ที่เป็นเยอะ หรือ ใช้กับที่เล็บ, รักษาหูด, ตาปลา ส้นเท้าหนาแตกด้าน

ดังนั้น การที่ครีมบางชนิดมี ความเข้มข้นมากขึ้นไม่ได้แปลว่าจะต้องดีกว่าเสมอไป ควรเลือกให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น หากนำ 20% มาใช้กรณีผิวแห้ง ก็อาจทำให้รอยโรคแย่ลงได้จากการผลัดลอกเซลล์ผิวมากขึ้นกว่าเดิม

ครีมยูเรียสามารถใช้ทาเดี่ยว ๆ เพื่อรักษาโรคทางผิวหนัง หรือทาเพื่อเพิ่มการดูดซึมของยาตัวอื่นได้

เช่น
• 10% urea ร่วมกับ hydrocortisone หรือ betamethasone-17-valerate ในการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
• 10% urea ร่วมกับ 1% hydrocotisone, 2% salicylic acid ในการรักษาโรคผิวแห้ง Ictyosis vulgaris
• 10-40% urea ร่วมกับ dithranol หรือ bifonazole ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
• 40% urea ร่วมกับ 1% fluconazole ในการรักษาเชื้อราที่เล็บ

สรุปยูเรียถึงแม้จะค่อนข้างปลอดภัยไม่ค่อยมีรายงานผลข้างเคียง แต่มีข้อควรระวัง

• ใช้กับโรคผิวหนังเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวและช่วยให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออก ไม่ควรซื้อมาทาเล่นโดยไม่มีข้อบ่งชี้
• ระคายเคืองได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการทาในที่ผิวบอบบาง เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ รวมทั้งใบหน้า ยกเว้นหากรอยโรคหนาที่หน้าอาจใช้ได้ชั่วคราว และควรใช้ความเข้มข้นต่ำ ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องนาน และหยุดทาเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว
• หญิงตั้งครรภ์ เลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก ป้องกันเวลาลูกกินนม เพราะยังไม่มีรายงานชัดเจนถึงความปลอดภัยในระหว่างให้นมบุตร
• หลีกเลี่ยงการทาในแผลเปิด
• บางรายสามารถแพ้ยูเรียได้ หากใช้แล้วมีผื่นคัน หรืออาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

ครีมยูเรีย ประโยชน์มากมายและใช้ได้ผลค่อนข้างดี แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็เกิดผลเสียตามมา โรคผิวหนังนั้นอาจแย่ลง ก่อนซื้อมาใช้เองควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอว่ารอยโรคนั้น ๆ มีข้อบ่งชี้สำหรับครีมยูเรียหรือไม่ อย่าลืมว่า..เหรียญมีสองด้านนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี

——————————————

Reference
Topical urea in skincare: A review
Dermatilogy Therapy 2018; e12690.

——————————————

อ่านบทความที่ www.helloskinderm.com

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

มีสิวที่หลังต้องอ่าน เรียนรู้ทางแก้ด้วยตัวเอง

Picture was licensed by Freepik

⭐️ ทุกคนอยากมีแผ่นหลังที่ขาวเนียนใสกันทั้งนั้น

⭐️ เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาโลกแตก สิวที่หลัง ลำตัว หรือ ช่วงอกที่รักษาไม่หายสักที

⭐️ โพสนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า สิวที่ลำตัว (Truncal acne) คืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร แตกต่างจากสิวที่หน้าหรือไม่

🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩🚩


มาดูข้อเท็จจริงกัน

ต้องบอกก่อนว่า “Truncal acne” ใช้เรียกกรณีเป็นสิวที่ลำตัว ไม่ว่าเป็นส่วน หลัง แขน หน้าอก (ที่ไม่ใช่ สิวที่ใบหน้า) ซึ่งมีความ แตกต่างจากสิวที่หน้าบ้างในบางประเด็น

1️⃣ คนเป็นสิวที่หน้า มักมีสิวที่ลำตัวร่วมด้วยประมาณ 50% แต่มีส่วนน้อยที่อาจมีสิวที่ลำตัวโดยไม่มีสิวที่หน้า

2️⃣ สาเหตุการเกิดสิวที่ลำตัว คล้ายกับ สิวที่หน้า ได้แก่
🦠 แบคทีเรีย C.acne (ชื่อเดิม P.acne)
🦠 ฮอร์โมนเพศ จึงพบบ่อยในวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น
🦠 กรรมพันธุ์
🦠 ความเครียด

3️⃣ คนเป็นสิวที่หลัง แม้จะพบไม่บ่อย แต่แนวโน้ม มักมีอาการรุนแรงกว่า เป็นตุ่มหนองที่อักเสบเยอะกว่า และมีโอกาสเกิดร่องรอย หลุมสิว หรือแผลเป็นนูนตามมาได้มากกว่า และรักษาให้หายขาดได้ยากกว่าสิวที่หน้าเพราะเหตุผลคือ

🦠 เป็นบริเวณที่มองไม่เห็น ทำให้อาจทายาไม่ทั่วถึง
🦠 เป็นบริเวณกว้าง ทำให้มีข้อจำกัดของการทายา เช่น
❌ แสบระคายเคืองจากการทายาปริมาณมาก
❌ ยาบางตัวเช่น benzyl peroxide อาจทำให้กัดสีเสื้อ หรือ ผ้าปูที่นอนตอนนอน เกิดการด่างได้
🦠 เป็นบริเวณที่เกิดสิวอุดตันและอักเสบได้บ่อย เพราะมีการเสียดสีกับเสื้อผ้า, ที่นอน, เส้นผมโดยเฉพาะคนผมยาว
🦠 เป็นบริเวณที่เกิดการระคายเคืองได้บ่อย จากเหงื่อหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย
🦠 เป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เหงื่อเยอะ จึงมีโอกาสเกิดสิวจากเชื้อราร่วมด้วยได้บ่อย
🦠 ลำตัวเป็นบริเวณที่ผิวหนังมีความหนากว่าที่หน้า ทำให้การตอบสนองต่อการทายาไม่ดีเท่าที่ควร

————————————————

ดังนั้น หากเราทราบดังนี้แล้ว มาดูกันว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

📌 ลดการระคายเคืองและเสียดสี
▫️สวมเสื้อผ้าไม่รัดแน่น เนื้อผ้าไม่หยาบกระด้าง แนะนำผ้าคอตตอนหรือลินิน จะช่วยระบายอากาศได้ดี ลดการอับชื้น
▫️หลีกเลี่ยงการขัด ถู สครับผิวด้วยความแรง บางคนใช้ครีมหรืออุปกรณ์สครับผิวเพื่อหวังลดสิวอุดตัน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรทำเพราะเป็นความเข้าใจที่ผิด
▫️หลีกเลี่ยงการแกะหรือบีบสิว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ และเกิดรอยดำ แผลเป็นนูนตามมาได้

📌 ทำความสะอาดผิวกายอย่างถูกวิธี
▫️อาบน้ำด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน วันละ 2 ครั้ง
▫️อาจมากกว่านี้กรณีที่มีเหงื่อออกมาก หรือ หลังออกกำลังกาย
▫️ฟอกด้วยแชมพูที่ผสมยา สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ช่วยลดความมันและการติดเชื้อราที่รูขุมขนได้ เช่น Ketoconazole shampoo (Ketazon, Nizoral), Hibiscrub, Selenium sulfide (Selson), Sulphur soap (Harrogate soap)

📌 ทายารักษาสิว ที่ใช้ได้ คือ
▫️Salicylic acid (Lotion P)
▫️Benzyl peroxide 2.5-5% (Benzac) ทาทิ้งไว้ 3-5 นาทีแล้วล้างออก ไม่แนะนำให้ทาทิ้งไว้เพราะระคายเคืองและอาจทำให้เสื้อผ้า ที่นอน ด่างได้
▫️ยาทากลุ่มวิตามินเอ (Topical retinoids) มักเกิดการระคายเคืองได้มาก เพราะต้องทาบริเวณกว้าง และการตอบสนองไม่ค่อยดีเท่าที่ควรเพราะผู้ป่วยมักทนผลข้างเคียงไม่ไหว แนะนำให้ใช้ตัวที่ระคายเคืองน้อย
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัย RCT phase 3 ยาทาตัวใหม่ในกลุ่มนี้ได้ผลค่อนข้างดีในการใช้ทาสิวลำตัว คือ Topical trifarotene 50 ug/g ทาวันละครั้ง
▫️ยาทากลุ่ม azaleic acid (Skinoren)
▫️ยาทากลุ่ม dapsone 7.5% gel

🆘 ไม่แนะนำให้ใช้ยาทาฆ่าเชื้อสิวเดี่ยวๆ เช่น clindamycin/erythromycin/metronidazole lotion เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
🆘 ทาครีมบำรุงผิวร่วมด้วยเสมอ
🆘 สิวที่ลำตัว มักตอบสนองไม่ค่อยดีต่อการรักษาด้วยยาทาตามที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนใหญ่ไม่แปลกที่ผู้ป่วยจึงมักลงเอยด้วยการรักษาด้วยยารับประทานร่วมด้วย

————————————————

ถึงจุดนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังร่วมดูแลค่ะ

📌 ยากิน
▫️ยารับประทานฆ่าเชื้อ ใช้ชนิดและขนาดเดียวกับการรักษาสิวที่หน้า
▫️ยารับประทานกลุ่มวิตามินเอ ใช้ขนาดเดียวกับการรักษาสิวที่หน้า ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้เหมือนสิวที่หน้า ได้แก้ severe nodulocystic acne, non responsive to topical agents
▫️ยากลุ่มปรับฮอร์โมน เช่น OCPs หรือ spironolactone ใช้เฉพาะรายที่มีภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนร่วมด้วยเท่านั้น

📌 รักษาผลแทรกซ้อนที่ตามมา
▫️รอยดำ อาจใช้ skinoren หรือ topical lightening agent
▫️แผลเป็นนูน คีลอยด์ มีการรักษาหลายวิธีขึ้นกับแพทย์พิจารณาการรักษาเป็นราย ๆ ไป

🌈 หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่ประสบปัญหาโลกแตกสิวที่ลำตัวไม่หายสักที ใครมีคำถามที่สงสัยถามไว้ในคอมเม้นต์ได้เลยค่ะ
🌈 แชร์เผื่อเพื่อนที่มีสิวอ่านด้วยนะคะ

▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️▫️

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.

เคล็ดลับการดูแลริมฝีปากให้นวลนุ่มน่าสัมผัส

💋💋💋💋💋💋💋💋💋💋💋💋

เราทุกคนล้วนอยากมีริมฝีปากที่นุ่มชุ่มชื้น ไม่มีขุย ไม่แห้งแตก ลองมาดูวิธีกัน

💯 ทาลิปบาล์มหรือลิปมอยส์เจอไรเซอร์ ก่อนนอน และ ทาบำรุงบ่อย ๆ ในระหว่างวัน โดยเฉพาะช่วงอากาศหนาวหรือคนที่ทำงานในห้องแอร์

✔️ เลือกเป็นส่วนผสมที่ระคายเคืองน้อย ทำจากธรรมชาติ [รูป 2] และหากเป็นไปได้ควรเลี่ยงสารสังเคราะห์ หรือส่วนผสมที่อาจก่อความระคายเคืองได้บ่อย [รูป 3]
✔️ หยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้น หากพบมีอาการที่บ่งบอกถึงการระคายเคือง เช่น คัน แสบ แดง ออกร้อนบริเวณที่ทา
✔️ แนะนำชนิดที่ไม่มีน้ำหอม (fragrance free) เพื่อลดการระคายเคืองหรือผื่นแพ้สัมผัส

รูป 2
รูป 3

💯 หากริมฝีปากแห้งแตกและเป็นขุยมาก แนะนำลิปบาล์มที่เป็นเนื้อขี้ผึ้ง เช่น Petroleum jelly เพราะจะสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นและลดการระเหยน้ำออกจากผิวได้ดีกว่า

💯ปกป้องริมฝีปากจากแสงแดดด้วยลิปบาล์มที่ผสมสารป้องกันแสงแดดก่อนออกจากบ้าน

✔️ อย่างน้อย SPF 30 ขึ้นไป
✔️ มีส่วนผสมของ Titanium oxide และ/หรือ Zinc oxide
✔️ ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง

💯 ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของริมฝีปาก

💯 ไม่กัด แทะ ฉีก เล็ม เลียริมฝีปาก บางท่านอาจเข้าใจว่าการเลียที่ริมฝีปากจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นได้ แต่ความจริงแล้วหลังจากที่น้ำลายระเหยไป จะทำให้ผิวบริเวณนั้นยิ่งแห้งแตกกว่าเดิม
ท่องไว้ว่า..หากรู้สึกริมฝีปากแห้ง ควรหยิบลิปบาล์มขึ้นมาทาทันที อย่าเลีย อย่าแกะ

💯 หลีกเลี่ยงการเจาะหรือติดริมฝีปากด้วยเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ เพราะอาจเกิดการแพ้สัมผัส ระคายเคืองได้

💯 ใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifiers) โดยเฉพาะช่วงเวลาอากาศแห้งในฤดูหนาว เพราะจะส่งผลให้ผิวแห้งได้

💯 หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

💯 สามารถสครับหรือขัดริมฝีปากอย่างอ่อนโยน (เน้นว่าเบาและอ่อนโยน) อาจใช้ผลิตภัณฑ์สครับหรือแปรงสีฟันขนอ่อน ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วได้

💯 ช่วงที่ปากแห้งมาก ๆ ควรเลี่ยงอาหารพวกรสจัด ตระกูลส้ม เครื่องเทศ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองเพิ่มขึ้นได้

สุดท้ายที่อยากฝากไว้ ภาวะปากแห้งแตกอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุได้จากหลายอย่าง เช่น ผิวแห้ง ติดเชื้อ ภูมิแพ้ แพ้ยาสีฟัน ขาดวิตามินบางชนิดหรือผื่นแพ้แดดต่าง ๆ หากไม่แน่ใจแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังร่วมดูแลจะดีที่สุดค่ะ

หากมีคำถามที่อยากให้หาคำตอบมาให้ หรือใครมีประสบการณ์อยากร่วมแชร์ สามารถคอมเมนท์ในโพสนี้ได้เลยค่ะ หวังว่าโพสนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ

Reference : เนื้อหาบางส่วนจาก American Academy of Dermatology, Dermatologist recommendation

When in doubt,
Ask your Board-certified Dermatologist

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © HELLO SKIN by หมอผิวหนัง All rights reserved.